Company Logo
ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ www.nettathai.org สนใจสมัครสมาชิก ติดต่อ โทรศัพท์ 0 4421 2370 - 1 โทรสาร 0 4421 2372 E-mail : nettathai@hotmail.com





อัตราแลกเปลี่ยน



พยากรณ์อากาศ

3บิ๊กหยุดรับซื้อข้าวโพด ต่อรองนำเข้า"ข้าวสาลี"

3 โรงอาหารสัตว์ "CP-แหลมทอง-ลีพัฒนา" ประกาศหยุดรับซื้อข้าวโพดไม่มีกำหนด วงการป่วน พาณิชย์กดดัน ปลดล็อกมาตรการบังคับซื้อ 3 ส่วนแลกสิทธินำเข้าข้าวสาลีต่อ 1 ส่วน สมาคมค้าพืชไร่ชี้ยอมขึ้นราคาได้ไม่ถึง 10 วัน

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานเข้ามาว่า เมื่อช่วงเย็นวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา กลุ่มชาวไร่ข้าวโพดได้มีการแชร์ข้อความผ่าน Line เรื่องบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่ 3 ราย ประกอบด้วยกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CP) แหลมทอง และลีพัฒนา หยุดการรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกร โดยโรงงานอาหารสัตว์ของ CP ปิดการรับซื้อข้าวโพดทั้งหมด 6 แห่ง ที่ศรีราชา, ราชบุรี, โคกกรวด, ปักธงชัย, พิษณุโลก และลำพูน ได้ประกาศยุติการรับซื้อข้าวโพดอย่างไม่มีกำหนดนับตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายนเป็นต้นไป โดยให้เหตุผลง่าย ๆ ว่า "จะปิดปรับปรุงเครื่องจักร"

เรื่องนี้ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันในหมู่ชาวไร่ข้าวโพดว่า เป็นเรื่องตลกร้ายที่หัวเราะไม่ออกที่อยู่ ๆ โรงอาหารสัตว์จะหยุดปรับปรุงเครื่องจักรพร้อม ๆ กันอย่างนี้ "มันน่าจะเป็นแรงกดดันรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวงพาณิชย์มากกว่า เพราะที่ผ่านมาโรงงานอาหารสัตว์พยายามขอให้กระทรวงพาณิชย์ปรับมาตรการขอความร่วมมือให้ซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน เพื่อนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน (มาตรการ 3 : 1) แต่โรงงานอาหารสัตว์พยายามล็อบบี้ ขอให้ยกเลิกหรือปรับลดเงื่อนไขเป็นรับซื้อข้าวโพดในประเทศ 2 ส่วน นำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วน" แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ก่อนที่จะมีการกำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลี 3 ต่อ 1 นั้น ที่ผ่านมากลุ่มโรงงานอาหารสัตว์มีการแห่นำเข้าข้าวสาลีเพื่อทดแทนข้าวโพดในสูตรอาหารสัตว์มากเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ราคาข้าวโพดภายในประเทศร่วงอย่างหนักมาแล้ว มาคราวนี้ก็เช่นกัน กลุ่มโรงงานอาหารสัตว์เคยให้เหตุผลว่า แม้จะซื้อข้าวโพดทั้งหมดในประเทศ 4.5 ล้านตัน ด้วยมาตรการ 3 ต่อ 1 หรือคิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบข้าวสาลีได้ 1.5 ล้านตันแล้วก็ยังได้วัตถุดิบอาหารสัตว์ (ข้าวโพด+ข้าวสาลี) มีปริมาณไม่เพียงพอที่จะใช้ในการผลิตอยู่ดี แต่กระทรวงพาณิชย์ยังไม่มีคำตอบในเรื่องนี้ จนโรงงานอาหารสัตว์รวมตัวกันหยุดรับซื้อข้าวโพดในที่สุด

ด้านนายทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย นายกสมาคมการค้าพืชไร่ กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สมาคมได้รับทราบข้อมูลโรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์ทั้ง 3 รายได้หยุดการรับซื้อข้าวโพดจริง โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560

"การหยุดซื้อข้าวโพดของโรงงานอาหารสัตว์อย่างไม่มีกำหนด ได้ส่งผลกระทบกระเทือนทั้งระบบ ซึ่งในช่วงก่อนที่จะมีการหยุดซื้อ 10 วัน กลุ่มโรงงานอาหารสัตว์ได้มีการปรับขึ้นราคารับซื้อขึ้นไปเป็นกิโลกรัมละ 8.30-8.40 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงสุดในฤดูกาล แต่เป็นช่วงปลายฤดูแล้ว ไม่มีผลผลิตมากนัก แต่หากหยุดไปถึงผลผลิตฤดูกาลใหม่จะออกอีกทีก็คือกลางเดือนสิงหาคมก็อาจจะกระทบอีก แต่ที่สำคัญก็คือ ภายหลังจากที่ขึ้นราคารับซื้อข้าวโพดได้ไม่นานก็มีเกษตรกรแจ้งเข้ามาว่า ขณะนี้มีการปรับขึ้นราคาจำหน่ายอาหารสัตว์ (น้ำหนักบรรจุ 30 กิโลกรัม) ขึ้นเฉลี่ยกระสอบละ 5 บาทด้วย" นายทรงศักดิ์กล่าว

ส่วนแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดก็คือ กระทรวงพาณิชย์ควรจะต้องออกประกาศให้โรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์ใช้วัตถุดิบในประเทศ หากจะ "ยกเว้น" ให้ใช้วัตถุดิบนำเข้าได้ก็ต่อเมื่อเกิดการขาดแคลนจริง ๆ รวมถึงการใช้มาตรการภาษีนำเข้าเช่นเดียวกับประเทศอาเซียนอื่น ๆ อย่างเช่น ฟิลิปปินส์มีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าข้าวสาลี 35% และมีโควตาด้วย แต่ประเทศไทยกลับลดภาษีนำเข้าเป็น 0% ราคาข้าวโพดไทยจึงต่ำกว่าฟิลิปปินส์ที่ขายกันอยู่ กก. 9.80 บาท

ทั้งนี้ผลผลิตข้าวโพดปี 2560/2561 น่าจะมีปริมาณมากกว่า 4.5 ล้านตัน เพราะหากคำนวณจากประสิทธิภาพของการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดที่ระบุว่า จะสามารถให้ผลผลิตได้ 1,500-1,900 กิโลกรัมต่อไร่ ต่อพื้นที่ปลูกทั้งประเทศ 7 ล้านไร่ก็จะได้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 10.5 ล้านตัน

รายงานข่าวระบุว่า เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2560 ได้มีการประชุมตามมติคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) ที่เห็นชอบ "ยกเว้น" การใช้มาตรการ 3 : 1 ให้กับบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์น้ำ (อาหารกุ้ง) ตามที่ได้สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ร้องขอยกเว้นเพื่อนำเข้าข้าวสาลีสัดส่วนร้อยละ 10% ของกำลังการผลิตจริงมา หรือปริมาณ 150,423 ตันต่อปี ใช้เป็นส่วนผสมของอาหารกุ้งด้วย มีความจำเป็นจะต้องใช้วีตกลูเตน ซึ่งสกัดจากข้าวสาลี เป็นสารเหนียว เพื่อให้อาหารกุ้งคงทนในน้ำได้นานขึ้น โดยยกเว้นให้กับ 6 บริษัท ได้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) CP, บริษัท อินเทคค์ ฟรีด จำกัด, บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด, บริษัทในเครือลีพัฒนา, บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีอาร์เอส ฟีดมิลล์ จำกัด

พร้อมกันนี้ที่ประชุมยังได้หารือถึงแนวทางการจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 2560/2561 โดยขอความร่วมมือ 1) ให้สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยเพื่อการส่งออกรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเพาะปลูกในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิในราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 8 บาท ด้วยความชื้น 14.5% 2) ประสานสหกรณ์ผู้เลี้ยงสัตว์เพื่อบริโภคในประเทศ รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ไม่มีเอกสารสิทธิในราคาที่ลดหลั่นตามชั้นคุณภาพ 3) ประสานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงมหาดไทย พิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่ในการเลือกปลูกพืชทดแทน เพื่อให้กระทรวงพาณิชย์เตรียมจัดหาตลาดรองรับต่อไป และ 4) ขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ/ผู้รวบรวมที่รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในท้องถิ่นเพื่อกำกับดูแลและจัดระเบียบผู้ค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์






Powered by Allweb Technology.