“ธีระ เอื้ออภิธร” ส่งออกมันไปจีนผลิตอาหารสัตว์รุ่ง

ธีระ เอื้ออภิธร



หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2562 ส่งผลให้ความต้องการมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการใช้เพื่อผลิตแอลกอฮอล์ ซึ่งมีความต้องการมากขึ้น สำหรับตลาดส่งออกมันสำปะหลังหลักของไทยยังเป็นตลาดจีน กว่า 90% และด้วยเหตุที่ผลผลิตในประเทศไทยยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้

จึงทำให้ราคามันสำปะหลังเป็นพืชที่มีราคาสูงเกินกว่าราคาประกัน จนรัฐบาลไม่ต้องจ่ายชดเชยโครงการประกันรายได้ ส่วนแนวโน้มการส่งออกปี 2566 “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ นายธีระ เอื้ออภิธร นายกสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ตลาดส่งออกมันในจีน

ตลาดส่งออกหลักของมันเส้นไทยยังเป็นตลาดจีน เชื่อว่าการส่งออกปีนี้จะเท่าปีที่ผ่านมาที่ 6.5 ล้านตัน เทียบกับก่อนที่จะมีสถานการณ์โควิด-19 ไทยส่งออกมันเส้นประมาณ 4 ล้านตัน เติบโตมากขึ้น ขณะที่แป้งมันก็คาดว่าจะมีปริมาณเทียบเท่าปีที่ผ่านมาที่ 4.9 ล้านตัน

“จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้จีนมีความต้องการมันสำปะหลังเพื่อนำไปผลิตแอลกอฮอล์ จึงมีการนำเข้ามากขึ้น ก็เป็นอานิสงส์ทำให้ไทยส่งออกได้เพิ่มขึ้น ประกอบกับปีที่แล้วทางเอกชนเราได้ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ได้เจรจาเปิดตลาดอาหารสัตว์ในจีน ซึ่งก็ประสบผลสำเร็จทำให้ไทยส่งออกมันอัดเม็ดไปในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ได้ 1 ล้านตัน ปีก็น่าจะส่งออกได้ต่อเนื่อง”

แนวโน้มจีนยังมีความต้องการนำเข้ามันจากไทย ขณะนี้ราคาในส่วนแอลกอฮอล์ในจีนปัจจุบันเฉลี่ย 7,000 หยวนต่อตันจากก่อนโควิดเฉลี่ย 4,000 หยวนต่อตัน จากความต้องการมากขึ้นดันให้ราคาตลาดสูงขึ้น ดังนั้นเมื่อความต้องการเพิ่ม ราคาดี ก็จะทำให้ราคามันสำปะหลังของไทยดีด้วยเช่นกัน ปีนี้ปัญหาราคามันจึงไม่น่าห่วง

รุกตลาดอาหารสัตว์

ที่สำคัญ เรายังได้เปิดเจรจาขยายตลาดส่งออกไปในตลาดอื่นเพิ่มเติม เช่น ฟิลิปปินส์ ซึ่งมีความสนใจที่จะนำเข้ามันสำปะหลังจากไทย แต่ด้วยติดปัญหาผลผลิตน้อยอาจจะไม่สามารถส่งออกได้เพียงพอ ทำให้ผู้ส่งออกต้องรอดูสถานการณ์ รวมไปถึงปัญหาค่าเงินบาทของไทยที่แข็งค่าเร็ว ตอนนี้อยู่ที่ 33 บาทกว่าต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของไทย

“ตลาดซาอุฯก็เป็นตลาดใหม่ที่มีความสนใจที่จะนำเข้าโดยเฉพาะทำอาหารสัตว์ เพราะเลี้ยงอูฐเยอะและต้องการสารอาหารคาร์โบไฮเดรต ซึ่งสามารถหาได้จากมันสำปะหลัง ทั้งเรายังมีผลวิจัยรองรับว่ามันสำปะหลังเมื่อนำไปทำเป็นอาหารสัตว์มีประโยชน์ ลดการป่วยของสัตว์ สัตว์มีการเจริญเติบโต ซึ่งสามารถตอบโจทย์ได้ดี ที่ผ่านมาจึงทำให้ไทยเปิดตลาดอาหารสัตว์ได้”

ผลผลิตมันปี’66

สถานการณ์ผลผลิตมันสำปะหลังในปี 2565/2566 จากการติดตามคาดว่าผลผลิตจะลดลง จากที่เรามีการประเมินไปก่อนหน้านี้ประมาณ 34.9 ล้านตัน โดยจะลดลงจากนี้ 30-40% เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาฝนตกเยอะ ทำให้เกษตรกรต้องขุดออกมาขาย เพราะหากไม่ขุด โอกาสที่มันจะเน่าก็สูง เชื้อแป้งก็จะต่ำด้วย ประกอบกับช่วงนี้ราคารับซื้อดี ยิ่งทำให้เกษตรกรยิ่งเร่งขุด

แต่มันสำหลังที่ขุดมาก่อนก็เป็นมันอ่อน อายุประมาณ 6 เดือน จากอายุมันที่ควรขุดออกมาขายควรจะมีอายุ 10-12 เดือน รวมไปถึงปีนี้ผลผลิตต่อไร่ก็ต่ำด้วยจากเดิม 3.4-4.0 ตันต่อไร่ แต่ตอนนี้อยู่ที่ 2 ตันต่อไร่

“ช่วงที่ผลผลิตมันสำปะหลังจะออกสู่ตลาดมาก ๆ ในทุกปี ระหว่างเดือนธันวาคม-มีนาคม คาดว่าปีนี้ผลผลิตจะลดลง เห็นได้จากตอนนี้หน้าโรงงานจะมีมันเข้ามาประมาณ 20,000 ตันต่อวัน จากปกติแล้วช่วงที่มันออกสู่ตลาดมาก ๆ จะมีมันเข้าโรงงานประมาณ 40,000-50,000 ตันต่อวัน สำหรับหัวมันสด”

ส่วนความต้องการใช้มันสำปะหลังในตลาดต่อปีอยู่ที่ 47 ล้านตัน ซึ่งประเทศไทยผลิตไม่เพียงพอก็ต้องนำเข้าจากเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว และกัมพูชา ซึ่งทั้งสองประเทศนี้จะให้ผลผลิตออกช่วงเดียวกับของประเทศไทย จึงมีการนำเข้าผ่านชายแดน ส่วนใหญ่ผ่านจังหวัดอุบลฯ สุรินทร์ และศรีสะเกษ แต่นำเข้าได้ไม่กี่ด่านเพื่อการตรวจสอบคุณภาพของมันที่นำเข้าด้วย

ราคามันทะลุ 3 บาท/กก.

ราคามันสำปะหลังในปีนี้ ยังเป็นราคาที่สดใสสำหรับเกษตรกร โดยราคารับซื้อปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 3 บาทกว่าต่อกิโลกรัม ในเชื้อแป้งอยู่ที่ 25-30% หากเกษตรกรนำมันอ่อนมาขาย ราคาก็จะตกเพราะเชื้อแป้งไม่ได้ ซึ่งเชื้อแป้งจะอยู่ที่ 18-20% ส่วนต้นทุนการเพาะปลูกของเกษตรกรตอนนี้เฉลี่ยที่ 2.30-2.50 บาทต่อกิโลกรัม จากค่าแรง ค่าน้ำมัน ปุ๋ยแพงขึ้น แต่ด้วยความต้องการเพิ่มขึ้นจากปัญหาการแพร่ระบาดของงบฯโควิด-19 ทำให้ราคามันดี เกษตรกรจึงขายได้ราคา

“โครงการประกันรายได้มันสำปะหลังที่ 2.50 บาทต่อกิโลกรัม แต่ราคารับซื้อดี ปีที่ผ่านมาเกินกว่าประกัน รัฐบาลไม่ได้จ่ายเงินส่วนต่างในโครงการแต่อย่างใด และเชื่อว่าราคามันปีนี้ก็ยังมีแนวโน้มที่ดีเช่นกัน คาดว่าจะสดใสตลอดทั้งปี เทียบกับราคาข้าวโพดอยู่ที่ 12 บาทต่อกิโลกรัม”

วอนรัฐช่วยเหลือ

ด้านการตลาดและราคามันสำปะหลังปีนี้ เป็นปีที่สดใสและมีแนวโน้มดี ดังนั้นต้องการให้รัฐเข้ามาส่งเสริมสนับสนุนการสำรวจโรคใบด่าง เพราะมองว่าเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข ปัจจุบันมีการสำรวจว่ามีกระจายในหลายพื้นที่ และหวั่นว่าหน้าร้อนปีนี้จะกลับมาแพร่กระจายอีกครั้ง รณรงค์การปลูกมันสะอาด ไม่เอามันที่ติดโรคมาปลูก แจกท่อนพันธุ์ ส่งเสริมงานวิจัย เพิ่มผลผลิตต่อไร่ รวมไปถึงด้านการตลาด หาตลาดใหม่ ๆ

พร้อมกันนี้ก็ติดตามและเข้มงวดในการลักลอบนำเข้ามันจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะนำเข้ามาในรูปแบบกองทัพมด ก็ต้องเข้มงวดมากขึ้น ดูแลมันที่ได้คุณภาพทั้งในประเทศ และมันที่นำเข้า ปัจจุบันหน่วยงานที่ดูแลก็ติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นผลดีต่อการส่งออกมันไทย

“เชื่อว่าปีนี้เกษตรกรขายมันได้ราคาตลอดทั้งปี การส่งออกขยายตัวจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น แต่เพื่อที่จะให้การส่งออกดี ทุกฝ่ายต้องควบคุมดูแลคุณภาพ เพื่อการส่งออกที่เติบโต”

ที่มา : 

 วันที่ 22 มกราคม 2566