Company Logo
ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ www.nettathai.org สนใจสมัครสมาชิก ติดต่อ โทรศัพท์ 0 4421 2370 - 1 โทรสาร 0 4421 2372 E-mail : nettathai@hotmail.com





อัตราแลกเปลี่ยน



พยากรณ์อากาศ

ครบรอบ 10 ปี AFET หนุนเลิกจำนำ สู่ทศวรรษใหม่รับเออีซี

 

 

          ปัจจุบันการซื้อขายสินค้าเกษตรผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) ยังไม่ได้รับความนิยม แม้จะผ่านไปถึง 10 ปีแล้ว อนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร นักวิชาการ และข้าราชการได้สะท้อนมุมมองอย่างน่าสนใจ

คสช.หนุนปฏิรูปการค้าเกษตร

          นางพิรมล เจริญเผ่า รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเปิดงานสัมมนาครบรอบ 10 ปี AFET ในหัวข้อ "หนึ่งทศวรรษ AFET กับบทบาทการสร้างเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรไทย" ว่า ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีนโยบายให้ปฏิรูปการตลาด การค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตร การใช้ประโยชน์จากตลาด AFET เป็นทางเลือกในการบริหารความเสี่ยง การวางแผนผลิต และการตลาด ควรจัดให้มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน เพราะในอนาคตจะเป็นกลไกสำคัญหากสามารถผลักดันให้ไทยเป็นผู้นำตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าในอาเซียน

10 ปี AFET ยังแผ่ว

          นายศักดิ์ดา ทองปลาด รองผู้จัดการ และผู้ทำการแทนผู้จัดการ AFET กล่าวว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา AFET ไม่มีบทบาทในการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรอย่างเต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากมีการใช้นโยบายแทรกแซงราคา ทำให้กลไกตลาดไม่สามารถทำงานได้ รวมทั้งติดปัญหาสภาพคล่อง หากเทียบประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น ใช้กลไกตลาด AFET ถึง 2 เท่า ของปริมาณการค้าในสินค้าแต่ละชนิด ขณะที่ไทยมีสินค้าผ่าน AFET 3 รายการ ได้แก่ ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าว

นักวิชาการหนุนเลิกจำนำ

          นายทวีชัย เจริญเศรษฐศิลป์ นักยุทธศาสตร์อาวุโส สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า AFET เป็นเครื่องมือยกระดับรายได้เกษตรกร ไม่ต้องพึ่งพาการแทรกแซงของภาครัฐ หากซื้อขายผ่านตลาดเอเฟตจะช่วยทำให้ค่าเฉลี่ยของรายได้เกษตรกรที่ต้องสูญเสียจากความผันผวนของราคาลดลง 6.4% ของรายได้ ในระยะยาวไทยควรมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ลดการแทรกแซงราคา หันมาใช้ประโยชน์จากกลไกตลาด การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและเครื่องมือบริหารจัดการความเสี่ยง ตลอดจนใช้เป็นแหล่งกำหนดราคาอ้างอิงสำหรับเกษตรกร ที่จะสามารถนำไปใช้วางแผนการผลิตและทำการตลาดได้

AFET รับ AEC

          นายพงษ์ศักดิ์ เกิดวงศ์บัณฑิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด กล่าวระหว่างการเสวนา "การปรับตัวของสินค้าเกษตรหลัก โดยใช้กลไกตลาดล่วงหน้า เพื่อรองรับการเข้าสู่ AEC " ว่า หลังจาก คสช. เข้ามาบริหารประเทศ น่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี ทั้งเรื่องราคา กฎหมายที่เกี่ยวข้อง การแข่งขันในตลาด ซึ่งทุกหน่วยงานควรร่วมมือกันผลักดันให้ตลาดอาเซียนเป็นตลาดที่กำหนดอ้างอิงราคายางพาราได้ เพราะมีผู้ผลิตอยู่ในกลุ่มอาเซียนหลายประเทศ

          นายสุเมธ เหล่าโมราพร ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ธุรกิจข้าวและอาหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซี.พี. อินเตอร์เทรด จำกัด กล่าวว่า มั่นใจว่าการบริหารประเทศภายใต้ คสช. จะไม่มีโครงการรับจำนำข้าว และโครงการประกันราคาเกิดขึ้น จะทำให้กลไกราคาข้าวผ่อนคลายมากขึ้น หลังจากนี้ AFET ต้องเร่งศึกษาพัฒนาระบบข้อมูลให้มีประสิทธิภาพ เพียงพอตอบโจทย์ผู้ประกอบการ นักลงทุนได้ เพื่อกระตุ้นการซื้อขายให้มากขึ้น

          นายมาโนช วีระกุล นายกสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ต้องแก้ไขกฎระเบียบ กฎหมาย เพื่อลดอุปสรรคการซื้อขายผ่าน AFET ลง และขอให้ คสช.สนับสนุนให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี ปัจจุบันปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังปีการผลิต 2556/2557 คาดว่ามีประมาณ 28 ล้านตันหัวมันสด แบ่งใช้ในประเทศ 25% ส่งออก 75% นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน 3-4 ล้านตัน ให้พอต่อความต้องการในตลาดประมาณ 32 ล้านตัน ในระยะยาวขอให้รัฐดูแลด้านอื่นแทนการแทรกแซงราคา

ทีมา : ข่าวประชาชาติธุรกิจ






Powered by Allweb Technology.