
3บิ๊กหยุดรับซื้อข้าวโพด ต่อรองนำเข้า"ข้าวสาลี"
3 โรงอาหารสัตว์ "CP-แหลมทอง-ลีพัฒนา" ประกาศหยุดรับซื้อข้าวโพดไม่มีกำหนด วงการป่วน พาณิชย์กดดัน ปลดล็อกมาตรการบังคับซื้อ 3 ส่วนแลกสิทธินำเข้าข้าวสาลีต่อ 1 ส่วน สมาคมค้าพืชไร่ชี้ยอมขึ้นราคาได้ไม่ถึง 10 วัน
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานเข้ามาว่า เมื่อช่วงเย็นวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา กลุ่มชาวไร่ข้าวโพดได้มีการแชร์ข้อความผ่าน Line เรื่องบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่ 3 ราย ประกอบด้วยกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CP) แหลมทอง และลีพัฒนา หยุดการรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกร โดยโรงงานอาหารสัตว์ของ CP ปิดการรับซื้อข้าวโพดทั้งหมด 6 แห่ง ที่ศรีราชา, ราชบุรี, โคกกรวด, ปักธงชัย, พิษณุโลก และลำพูน ได้ประกาศยุติการรับซื้อข้าวโพดอย่างไม่มีกำหนดนับตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายนเป็นต้นไป โดยให้เหตุผลง่าย ๆ ว่า "จะปิดปรับปรุงเครื่องจักร"
เรื่องนี้ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันในหมู่ชาวไร่ข้าวโพดว่า เป็นเรื่องตลกร้ายที่หัวเราะไม่ออกที่อยู่ ๆ โรงอาหารสัตว์จะหยุดปรับปรุงเครื่องจักรพร้อม ๆ กันอย่างนี้ "มันน่าจะเป็นแรงกดดันรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวงพาณิชย์มากกว่า เพราะที่ผ่านมาโรงงานอาหารสัตว์พยายามขอให้กระทรวงพาณิชย์ปรับมาตรการขอความร่วมมือให้ซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน เพื่อนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน (มาตรการ 3 : 1) แต่โรงงานอาหารสัตว์พยายามล็อบบี้ ขอให้ยกเลิกหรือปรับลดเงื่อนไขเป็นรับซื้อข้าวโพดในประเทศ 2 ส่วน นำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วน" แหล่งข่าวกล่าว
ทั้งนี้ก่อนที่จะมีการกำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลี 3 ต่อ 1 นั้น ที่ผ่านมากลุ่มโรงงานอาหารสัตว์มีการแห่นำเข้าข้าวสาลีเพื่อทดแทนข้าวโพดในสูตรอาหารสัตว์มากเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ราคาข้าวโพดภายในประเทศร่วงอย่างหนักมาแล้ว มาคราวนี้ก็เช่นกัน กลุ่มโรงงานอาหารสัตว์เคยให้เหตุผลว่า แม้จะซื้อข้าวโพดทั้งหมดในประเทศ 4.5 ล้านตัน ด้วยมาตรการ 3 ต่อ 1 หรือคิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบข้าวสาลีได้ 1.5 ล้านตันแล้วก็ยังได้วัตถุดิบอาหารสัตว์ (ข้าวโพด+ข้าวสาลี) มีปริมาณไม่เพียงพอที่จะใช้ในการผลิตอยู่ดี แต่กระทรวงพาณิชย์ยังไม่มีคำตอบในเรื่องนี้ จนโรงงานอาหารสัตว์รวมตัวกันหยุดรับซื้อข้าวโพดในที่สุด
ด้านนายทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย นายกสมาคมการค้าพืชไร่ กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สมาคมได้รับทราบข้อมูลโรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์ทั้ง 3 รายได้หยุดการรับซื้อข้าวโพดจริง โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560
"การหยุดซื้อข้าวโพดของโรงงานอาหารสัตว์อย่างไม่มีกำหนด ได้ส่งผลกระทบกระเทือนทั้งระบบ ซึ่งในช่วงก่อนที่จะมีการหยุดซื้อ 10 วัน กลุ่มโรงงานอาหารสัตว์ได้มีการปรับขึ้นราคารับซื้อขึ้นไปเป็นกิโลกรัมละ 8.30-8.40 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงสุดในฤดูกาล แต่เป็นช่วงปลายฤดูแล้ว ไม่มีผลผลิตมากนัก แต่หากหยุดไปถึงผลผลิตฤดูกาลใหม่จะออกอีกทีก็คือกลางเดือนสิงหาคมก็อาจจะกระทบอีก แต่ที่สำคัญก็คือ ภายหลังจากที่ขึ้นราคารับซื้อข้าวโพดได้ไม่นานก็มีเกษตรกรแจ้งเข้ามาว่า ขณะนี้มีการปรับขึ้นราคาจำหน่ายอาหารสัตว์ (น้ำหนักบรรจุ 30 กิโลกรัม) ขึ้นเฉลี่ยกระสอบละ 5 บาทด้วย" นายทรงศักดิ์กล่าว
ส่วนแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดก็คือ กระทรวงพาณิชย์ควรจะต้องออกประกาศให้โรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์ใช้วัตถุดิบในประเทศ หากจะ "ยกเว้น" ให้ใช้วัตถุดิบนำเข้าได้ก็ต่อเมื่อเกิดการขาดแคลนจริง ๆ รวมถึงการใช้มาตรการภาษีนำเข้าเช่นเดียวกับประเทศอาเซียนอื่น ๆ อย่างเช่น ฟิลิปปินส์มีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าข้าวสาลี 35% และมีโควตาด้วย แต่ประเทศไทยกลับลดภาษีนำเข้าเป็น 0% ราคาข้าวโพดไทยจึงต่ำกว่าฟิลิปปินส์ที่ขายกันอยู่ กก. 9.80 บาท
ทั้งนี้ผลผลิตข้าวโพดปี 2560/2561 น่าจะมีปริมาณมากกว่า 4.5 ล้านตัน เพราะหากคำนวณจากประสิทธิภาพของการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดที่ระบุว่า จะสามารถให้ผลผลิตได้ 1,500-1,900 กิโลกรัมต่อไร่ ต่อพื้นที่ปลูกทั้งประเทศ 7 ล้านไร่ก็จะได้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 10.5 ล้านตัน
รายงานข่าวระบุว่า เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2560 ได้มีการประชุมตามมติคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) ที่เห็นชอบ "ยกเว้น" การใช้มาตรการ 3 : 1 ให้กับบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์น้ำ (อาหารกุ้ง) ตามที่ได้สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ร้องขอยกเว้นเพื่อนำเข้าข้าวสาลีสัดส่วนร้อยละ 10% ของกำลังการผลิตจริงมา หรือปริมาณ 150,423 ตันต่อปี ใช้เป็นส่วนผสมของอาหารกุ้งด้วย มีความจำเป็นจะต้องใช้วีตกลูเตน ซึ่งสกัดจากข้าวสาลี เป็นสารเหนียว เพื่อให้อาหารกุ้งคงทนในน้ำได้นานขึ้น โดยยกเว้นให้กับ 6 บริษัท ได้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) CP, บริษัท อินเทคค์ ฟรีด จำกัด, บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด, บริษัทในเครือลีพัฒนา, บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีอาร์เอส ฟีดมิลล์ จำกัด
พร้อมกันนี้ที่ประชุมยังได้หารือถึงแนวทางการจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 2560/2561 โดยขอความร่วมมือ 1) ให้สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยเพื่อการส่งออกรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเพาะปลูกในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิในราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 8 บาท ด้วยความชื้น 14.5% 2) ประสานสหกรณ์ผู้เลี้ยงสัตว์เพื่อบริโภคในประเทศ รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ไม่มีเอกสารสิทธิในราคาที่ลดหลั่นตามชั้นคุณภาพ 3) ประสานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงมหาดไทย พิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่ในการเลือกปลูกพืชทดแทน เพื่อให้กระทรวงพาณิชย์เตรียมจัดหาตลาดรองรับต่อไป และ 4) ขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ/ผู้รวบรวมที่รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในท้องถิ่นเพื่อกำกับดูแลและจัดระเบียบผู้ค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ชงครม.ไฟเขียวงบ 616 ล้าน พาณิชย์เดินหน้า 14 โครงการอุ้มชาวไร่มัน
พาณิชย์ เตรียมชง ครม. 14 มาตรการช่วยเหลือชาวไร่มันสำปะหลัง เล็งของบประมาณ 616 ล้านบาทบริหารจัดการผลผลิตมันสำปะหลังปี 60/61 พร้อมมาตรการเร่งด่วนดูดซัพพลายเข้าโรงงานเอทานอล 2 ล้านตัน-ดึงโรงแป้งช่วยซื้อหวังดึงราคาหัวมันสดไม่ให้ต่ำกว่า กก.ละ 1.60 บาท
แหล่งข่าวจากวงการมันสำปะหลัง เปิดเผยกับประชาชาติธุรกิจ ว่า ในวันที่ 19 มิถุนายนนี้ กระทรวงพาณิชย์เรียกประชุม 4 สมาคมมันสำปะหลัง และตัวแทนสมาพันธ์ชาวไร่มันสำปะหลัง เพื่อติดตามสถานการณ์ราคามันสำปะหลังในช่วงปลายฤดูการผลิตปี 2559/2560 พร้อมทั้งกำหนดมาตรการช่วยเหลือดูแลบริหารจัดการผลผลิตช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ และเตรียมความพร้อมสำหรับมันสำปะหลังฤดูการผลิตปี 2560/2561 ก่อนที่จะสรุปเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในเดือนนี้
โดยเบื้องต้นมาตรการบริหารจัดการมันสำปะหลังปี 2560/2561 ตามที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) เห็นชอบ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2560 ประกอบด้วยมาตรการระยะปานกลาง 14 มาตรการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต การสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน/สหกรณ์รับซื้อและแปรรูปเป็นมันเส้นสะอาด สนับสนุนเครื่องสับมันเพื่อทำมันเส้นสะอาดให้กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์เพื่อเพิ่มมูลค่า รวมทั้งสนับสนุนเครื่องชั่งน้ำหนักให้ด่านที่มีการนำเข้ามัน และกำกับดูแลการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน คาดว่าจะใช้วงเงินในการดำเนินการทั้งหมด 616.234 ล้านบาทพร้อมทั้งติดตามผลการดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงปลายฤดูการผลิตปี 2559/2560 ซึ่งก่อนหน้านี้นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้ประชุมกับ4 สมาคมมันสำปะหลัง และตัวแทนสมาพันธ์ชาวไร่มันสำปะหลัง ติดตามผลผลิตช่วงปลายฤดูการผลิตปี 2559/2560 คาดว่าจะมีผลผลิต 31 ล้านตันออกสู่ตลาดแล้วเกินกว่า 82% ทางชาวไร่แจ้งว่าสถานการณ์ราคามันสำปะหลังสด เปอร์เซ็นต์แป้ง 25% ปรับลดลงไปเหลือต่ำสุด กก.ละ 1.55-1.60 บาท ทางกรมจึงประสานให้โรงงานเอทานอลช่วยรับซื้อมันเส้นสับมือโดยตรงจากเกษตรกร 2 ล้านตัน ให้สูงกว่าราคาตลาดเพิ่มขึ้น กก.ละ 30 สตางค์ คาดว่าจะมีโรงงานเอทานอลเปิดเพิ่มอีก 5 แห่งในจังหวัดสุรินทร์ อุดรธานี อำนาจเจริญ สระแก้ว และสกลนคร พร้อมทั้งขอให้ทางโรงงานแป้งขยายระยะเวลาเดินเครื่องเพื่อรับซื้อมันสำปะหลังจากเกษตรกร โดยปกติโรงแป้งจะมีกำหนดปิดปรับปรุงช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ซึ่งทางโรงแป้งยินดีรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบปัญหาการนำเข้าตามแนวชายแดน โดยกรมการค้าต่างประเทศได้จัดชุดลงพื้นที่ตามแนวชายแดน ส่วนกรมการค้าภายในกำกับดูแลการขนย้ายในพื้นที่อำเภอที่เพาะปลูกที่มีเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยในปี 2560 จับกุมแล้ว 20 ราย
สำหรับการส่งออกมันสำปะหลัง 4 เดือนแรก (มกราคม-เมษายน) 2560 มูลค่า 32,746.15 ล้านบาท ลดลง 15.14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดส่งออกหลัก เช่น จีน 20,268.14 ล้านบาท ลดลง 11.57% สัดส่วน 61.89% ญี่ปุ่น 2,694.11 ล้านบาท ลดลง 7.91% สัดส่วน 8.23% อินโดนีเซีย 2,009.67 ล้านบาท ลดลง 54.89% สัดส่วน 6.14% ไต้หวัน 1,452.67 ล้านบาท ลดลง 15.08% สัดส่วน 4.44% และมาเลเซีย 1,341.14 ล้านบาท ลดลง 14.06% สัดส่วน 4.10% โดยราคาส่งออกมันเส้น ตันละ 155-158 เหรียญสหรัฐ ราคาแป้งมัน ตันละ 340 เหรียญสหรัฐ
พาณิชย์จับมือกับศุลกากรจีนร่วมอำนวยความสะดวกทางการค้าให้ผู้ส่งออกภายใต้กรอบ ACFTA
นายวันชัย วราวิทย์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ ได้ให้การต้อนรับและร่วมหารือกับคณะศุลกากรจีนนำโดย นายตี่ เจี๋ย (Di JIE) รองอธิบดีหน่วยงานศุลกากรกลางปักกิ่งซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลการนำเข้าสินค้าและด่านศุลกากรทั่วสาธารณรัฐประชาชนจีน
ซึ่งผลจากการหารือถือเป็นข่าวดีของผู้ประกอบการไทย เนื่องจากฝ่ายไทยและจีนได้ตกลงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน และสร้างกลไกความร่วมมือระหว่าง คต. ในฐานะผู้ออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form E) ของไทย กับศุลกากรจีนซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสิทธิขาดในการให้สิทธิพิเศษลดหย่อนอากรขาเข้าสาธารณรัฐประชาชนจีน นอกจากนี้ ยังได้หารือแนวทางร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการใช้สิทธิพิเศษฯ ภายใต้กรอบ FYA อาเซียน-จีน (ACFTA) เพื่ออำนวยความสะดวกให้การส่งออกสินค้าของไทยมีสภาพคล่องเพิ่มมากขึ้น
นายวันชัย กล่าวว่า การที่ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานของหน่วยงานทั้งสองได้มาเจอกันและหารือร่วมกันในการแก้ไขอุปสรรค ปัญหาในการส่งออกไม่ใช่เรื่องง่าย หากเจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายไม่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ดังนั้นการมาเยือนของคณะผู้แทนจีน จึงถือเป็นโอกาสที่ดียิ่งสำหรับประเทศไทยที่จะสานสัมพันธ์เพื่อปูทางไปสู่ความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต เพราะ คต. ถือเป็นหน่วยงานของรัฐไทยที่ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับผู้ประกอบการที่ส่งออกภายใต้สิทธิประโยชน์ตามความตกลงการค้าเสรีกรอบต่างๆ ที่รัฐบาลไทยได้ไปทำไว้ กล่าวคือเราให้คำปรึกษาและอำนวยความสะดวกให้ตั้งแต่กระบวนการส่งออกไปจนถึงการนำเข้าที่ประเทศปลายทาง
รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวด้วยว่า การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนในทุกระดับชั้น ตั้งแต่ระดับผู้นำจนถึงระดับปฏิบัติถือว่ามีความสำคัญมากในมิติทางการค้า เพราะจีนถือเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย มีเศรษฐกิจที่โตบวกมาโดยตลอด และเป็นตลาดการค้าขนาดใหญ่ โดยที่ผ่านมาการค้าของไทยผูกพันกับจีนมากที่สุด ดังนั้น จีนจึงเป็นตลาดการค้าที่สำคัญของไทยในปัจจุบันที่เข้ามาชดเชยตลาดในยุโรปและสหรัฐฯ ที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว ประกอบกับจีนอยู่ไม่ไกลจากไทย จึงเป็นโอกาสสำหรับสินค้าไทยในทุกกลุ่มสินค้า ไม่ว่าจะเป็นอาหาร สินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป และอุตสาหกรรมใหม่ๆ
สำหรับมูลค่าการค้ารวมไทย - จีน ช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค. - มี.ค.60) อยู่ที่ 17,368.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 14.57% จากช่วงเดียวกันของปี 2559 ขณะที่ทั้งปี 2559 มูลค่าการค้าไทย-จีน มีมูลค่ารวม 65,843.92 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยผู้ประกอบการไทยใช้สิทธิพิเศษทางภาษีส่งออกภายใต้ข้อตกลง ACFTA คิดเป็นมูลค่า 11,148.28 ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็น 74% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ) โดยสินค้าที่ใช้สิทธิฯ ในการส่งออกสำคัญๆ เช่น มันสำปะหลัง (HS 071410) ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ (HS 400280) โพลิเมอร์ของเอทิลีน (HS 390190) สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง (HS 110814) และทุเรียน (HS 081060) เป็นต้น
ที่มา : อาร์วายทีไนน์ 5 มิ.ย. 60
วมกว่า 100 ไร่ ต้องเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตขายก่อนกำหนด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ (30 พฤษภาคม 2560) เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังหลายสิบรายในพื้นที่บ้านหนองโสน ตำบลครบุรีใต้ อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ต้องเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตมันสำปะหลังอย่างเร่งด่วน เนื่องจากฝนตกลงอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะนี้ ทำให้เกิดน้ำไหลหลากเข้าท่วมขังไร่มันสำปะหลังกว่า 100 ไร่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ (30 พฤษภาคม 2560) เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังหลายสิบรายในพื้นที่บ้านหนองโสน ตำบลครบุรีใต้ อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ต้องเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตมันสำปะหลังอย่างเร่งด่วน เนื่องจากฝนตกลงอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะนี้ ทำให้เกิดน้ำไหลหลากเข้าท่วมขังไร่มันสำปะหลังกว่า 100 ไร่ มานานหลายวัน เกษตรกรจึงต้องเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิต เพราะเกรงว่าหากปล่อยทิ้งไว้นานกว่านี้ ผลผลิตมันสำปะหลังจะเน่าเสีย ไม่สามารถนำไปขายได้
ด้านนางประมวลจิตร สระพิณครบุรี เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังบ้านหนองโสน ต.ครบุรีใต้ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา กล่าวว่า มันสำปะหลังที่ตนปลูกไว้ขณะนี้มีอายุเพียงแค่ 5-6 เดือนเท่านั้น และกำลังประสบปัญหาน้ำท่วมขังในไร่มันสำปะหลัง ตนและเพื่อนเกษตรกรอีกหลายรายจึงต้องเก็บเกี่ยวผลผลิตมันสำปะหลังไปขายก่อนกำหนด ถึงแม้ว่าหากขายผลผลิตมันสำปะหลังตอนนี้จะได้ราคาต่ำมากก็ตาม เพราะหากปล่อยทิ้งไว้นานกว่านี้ ผลผลิตมันสำปะหลังจะเน่าเสียหายทั้งหมด ทั้งนี้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังคาดการณ์ว่าจะยังคงมีฝนตกลงมาในพื้นที่อย่างต่อเนื่องอีกแน่นอน
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ 30 พ.ค. 60
น้ำป่าไหลหลากท่วมตาพระยา นาข้าว มันสำปะหลังเสียหายกว่า 20,000 ไร่
วันที่ 29 พฤษภาคม 2560 นายอารยันต์ ท่าใหญ่ นายอำเภอตาพระยา จ.สระแก้ว ได้ลงพื้นที่ บ้านโคกแจง ต.ทัพเสด็จ อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว เพื่อตรวจสอบความเสียหาย ของพืชผลทางการเกษตร ของเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลัน ที่เกิดจากฝนตกหนักติดต่อกัน หลายวัน ทำให้เกิดน้ำป่าทะลักเข้าท่วมบ้านโคกแจง และบ้านใกล้เคียง กว่า 4 หมู่บ้าน
วันที่ 29 พฤษภาคม 2560 นายอารยันต์ ท่าใหญ่ นายอำเภอตาพระยา จ.สระแก้ว ได้ลงพื้นที่ บ้านโคกแจง ต.ทัพเสด็จ อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว เพื่อตรวจสอบความเสียหาย ของพืชผลทางการเกษตร ของเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลัน ที่เกิดจากฝนตกหนักติดต่อกัน หลายวัน ทำให้เกิดน้ำป่าทะลักเข้าท่วมบ้านโคกแจง และบ้านใกล้เคียง กว่า 4 หมู่บ้าน พืชผลทางการเกษตรเสียหายกว่า 20,000 ไร่ บ่อปลาเสียหายกว่า 40 บ่อ และโรงเรียนบ้านโคกแจงน้ำได้สูงขึ้นเรื่อย ๆ ทางเจ้าหน้าที่ทหาร และหน่วยกู้ชีพ อบจ.สระแก้ว ได้นำเรือท้องแบน ขนส่งนักเรียนออกจากบริเวณโรงเรียน ส่งกลับบ้าน โดยน้ำท่วมขังสูงระดับเอว ทางโรงเรียนจึงต้องทำการปิดโรงเรียน ชั่วคราว จนกว่าน้ำในบริเวณจะลดลง และอยู่ในความปลอดภัย จึงจะทำการเปิดเรียนตามปกติ เพื่อความปลอดภัยของนักเรียนอีกด้วย
ทางด้านนายอารยันต์ ท่าใหญ่ นายอำเภอตาพระยา จ.สระแก้ว กล่าวว่า อำเภอตาพระยา ทุกปีจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมาอย่างต่อเนื่อง แต่ในปีนี้ เกิดฝนตกติดต่อกัน ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2560 ทำให้เกิดน้ำสะสม และน้ำป่าไหลหลากมาอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ที่บ้านโคกแจง บ้านคลองน้ำใส บ้านทัพเสรี และบ้านคลองแผง หมู่บ้านที่ท่วมหนักที่สุด คือบ้านโคกแจง และขณะนี้ ทางอำเภอตาพระยา ได้แจ้งให้หน่วยเหนือทราบแล้วและขอประกาศเป็นเขตภัยพิบัติทางธรรมชาติ เพื่อให้การช่วยเหลือกับประชาชน ตามกฎหมายต่อไป
นายอารยันต์ ท่าใหญ่ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ น้ำทรงตัว หากฝนไม่ตกมาอีก คาดว่าพรุ่งนี้น้ำจะลดระดับลง ส่วนผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกรที่ได้รับความเสียหาย เช่น มันสำปะหลัง ข้าว จะรายงานให้หน่วยเหนือรับทราบ เพื่อหาทางช่วยเหลือต่อไป
ที่มา : มติชนออนไลน์ 29 พ.ค. 60