Company Logo
ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ www.nettathai.org สนใจสมัครสมาชิก ติดต่อ โทรศัพท์ 0 4421 2370 - 1 โทรสาร 0 4421 2372 E-mail : nettathai@hotmail.com





อัตราแลกเปลี่ยน



พยากรณ์อากาศ

รับจำนำมันส่อเค้าทุจริต หวั่นต่างด้าวสวมสิทธิ จี้'พาณิชย์'ตรวจสอบ


นายเสรี เด่นวรลักษณ์


นายเสรี เด่นวรลักษณ์ นายกสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย เปิดเผยว่า

ได้ทำหนังสือแจ้งกระทรวงพาณิชย์ถึงความผิดปกติจากการเปิดโครงการรับจำนำมันสำปะหลังฤดูกาลปี 54/55 โดยพบว่าการรับจำนำหัวมันสด ตั้งแต่ช่วงแรกวันที่ 1 ก.พ.-31 พ.ค. 55 และต่อมารัฐบาลได้ขยายโครงการอีก 1 เดือนจนถึง 30 มิ.ย. 55 มีปริมาณหัวมันสด ผลิตภัณฑ์แปรรูปเป็นมันเส้น และแป้งมันสำปะหลังเข้าโครงการจำนำมากผิดสังเกต ทั้งที่เป็นช่วงปลายฤดูกาลเก็บเกี่ยวแล้ว ซึ่งมีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย

 

"สมาคมฯ ได้ติดตามความผิดปกติในการเก็บเกี่ยวและการผลิตมันเส้นและแป้งมันสำปะหลัง พบว่าหลังสงกรานต์ ซึ่งเข้าช่วงปลายฤดูกาลเก็บเกี่ยวแล้ว แต่กลับมีปริมาณหัวมันสด มันเส้นและแป้งมันที่เข้าสู่โครงการฯ มีปริมาณสูงกว่าความจริง สวนทางกับปริมาณหัวมันสดที่เข้าสู่ตลาด และในลานมันที่มีการผลิตเป็นมันเส้นน้อยมาก ขณะเดียวกันได้เกิดกระแสข่าวลบ เกี่ยวกับการทุจริตในการดำเนินโครงการ จากการสวมสิทธิใบประทวนการนำมันสำปะหลังต่างชาติเข้ามาทางชายแดนเพื่อสวมสิทธิ บางพื้นที่มีการสต๊อกลมหรือนำสินค้าคุณภาพต่ำกว่าเกณฑ์กำหนดเข้าร่วมโครงการจำนำ"

 

ทั้งนี้การติดตามข้อมูลพบว่า การรับจำนำหัวมันสดช่วงเดือน ก.พ. 55 มีปริมาณเข้าร่วมโครงการแค่ 6 แสนตัน แปรรูปเป็นมันเส้นได้ 1.7 แสนตัน และแป้งมัน 4.5 หมื่นตัน เดือนมี.ค. 55 มีหัวมันสดเข้ามา 2.84 ล้านตัน แปรรูปเป็นมันเส้น 8.1 แสนตัน แป้งมัน 1.9 แสนตัน ขณะที่ช่วงก่อนสงกรานต์วันที่ 1-15 เม.ย. 55 มีหัวมันสดเข้า 1.1 ล้านตัน แปรรูปเป็นมันเส้น 2.67 แสนตัน แป้งมัน 1 แสนตัน ขณะที่ช่วงหลังสงกรานต์วันที่ 16-30 เม.ย. 55 มีหัวมันสดเข้า 1.34 ล้านตัน แปรรูปเป็นมันเส้น 3.75 แสนตัน แป้งมัน 9.9 หมื่นตัน เดือน พ.ค. 55 มีหัวมันสดเข้า 2.81 ล้านตัน แปรรูปเป็นมันเส้น 6.69 แสนตัน และแป้งมัน 2.71 แสนตัน และวันที่ 1-21 มิ.ย. 55 มีหัวมันสดเข้า 5.5 แสนตัน แปรรูปเป็นมันเส้น 1.2 แสนตัน และแป้งมัน 5 หมื่นตัน

 

นายเสรีกล่าวว่า สมาคมฯ เห็นว่ากระทรวงพาณิชย์ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบการดำเนินโครงการ ควรเร่งตรวจสอบปริมาณมันสำปะหลังที่เข้าโครงการจำนำว่าเป็นมันสำปะหลังที่มีเกษตรกรเป็นผู้ใช้สิทธิจริงและมีการเก็บเกี่ยวในช่วงเวลาดังกล่าวจริงหรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐบาลสูญเสียงบประมาณโดยไม่ได้เกิดประโยชน์อย่างที่ควรเป็นรายงานข่าวแจ้งเพิ่มว่า

วงการมันสำปะหลังยังตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า การที่รัฐบาลประกาศปรับขึ้นราคาจำนำ อีกทั้งตั้งโต๊ะรับซื้อมันสำปะหลังเพิ่มเติมจากเกษตรกรอีก 3 ล้านตันในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 55 อาจเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตเพิ่มเติมได้ จึงต้องการให้นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ เร่งสอบสวนด้วย เนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลัง มีมติเพิ่มราคารับจำนำมันสำปะหลังปี 54/55 ของเดือน เม.ย.-พ.ค. เพิ่มขึ้น จากเดือน เม.ย. 55 เดิม กก. ละ 2.85 บาท เป็น กก.ละ 3.00 บาท และในเดือน พ.ค.55 จากเดิม กก.ละ 2.90 บาท เป็น กก.ละ 3.20 บาท รวมทั้งให้จ่ายค่าขนส่งหัวมันสดจากจุดรับจำนำนอกพื้นที่ของลานมัน โรงแป้งไปยังจุดรับจำนำที่มีระยะเกินกว่า 50 กม. แม้จะอยู่ในจังหวัดเดียวกัน พร้อมทั้งให้หักผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังตามมูลค่าค่าขนส่งในหลักการเดียวกันกับการจ่ายค่าแปรสภาพและค่าขนส่งผลิตภัณฑ์เข้าโกดังกลาง

 

ที่มา : เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555 

กำหนดราคาผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ระหว่างวันที่ 21 - 30 มิถุนายน 2555



                เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน  2555 เวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุม 20911 ชั้น 9 กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์   ได้มีการประชุมคณะทำงานกำหนดราคาผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลังปี 2554/55 ครั้งที่ 15 และมีมติเห็นชอบการคำนวณราคามันเส้น และแป้งมันสำปะหลัง เพื่อใช้เป็นเกณฑ์หักค่าแปรสภาพและค่าขนส่งเป็นผลิตภัณฑ์ในช่วงการรับจำนำ ระหว่างวันที่ 21 - 30 มิถุนายน 2555 


                   : ราคามันเส้น 6.51  บาท/กก. 

                   : ราคาแป้งมันสำปะหลัง  13.06  บาท/กก.

 

ระหว่างวันที่
มันเส้น

แป้งมันสำปะหลัง

 21-30 มิ.ย. 2555 6.51 13.06
 11-20 มิ.ย. 2555 6.48 12.94
   1-10 มิ.ย. 2555 6.68 12.90
 21-31 พ.ค. 2555 6.75 12.81
 11-20 พ.ค. 2555 6.72 12.74
  1-10  พ.ค. 2555 6.62 12.51
 21-30 เม.ย. 2555 6.27 12.25
 11-20 เม.ย. 2555 6.02 12.16
  1-10  เม.ย. 2555 5.89 12.00
 21-30  มี.ค. 2555 5.82 12.01 



ข้อมูลข่าว : สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

กรมวิชาการเกษตรเจ๋ง ผลิตโคลนยีนเอนไซม์ ช่วยทดแทนพลังงาน




นายจิรากร โกศัยเสวี อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่าเอทานอลเป็นพลังงานทดแทนชนิดหนึ่งที่ภาครัฐส่งเสริมให้มีการผลิตและใช้ในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยภายในปี 2564 ไทยมีเป้าหมายขยายกำลังการผลิตเอทานอล จำนวน 9 ล้านลิตร/วัน เพื่อทดแทนน้ำมันเบนซิน ในกระบวนการผลิตเอทานอลจากวัตถุดิบประเภทแป้งเช่น มันสำปะหลัง จำเป็นต้องใช้เอนไซม์แอลฟา อะไมเลส เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาช่วยสลายเม็ดแป้งให้เปลี่ยนเป็นน้ำตาล ซึ่งเอนไซม์ชนิดดังกล่าว ส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากจีนและไต้หวัน ทำให้เงินตราไหลออกนอกประเทศค่อนข้างสูง

กรมวิชาการเกษตรจึงได้ศึกษาวิจัยการผลิตเอนไซม์แอลฟา อะไมเลส จากเชื้อบาซิลลัสและการแสดงออกในเซลล์ อี.โคไล เพื่อการผลิตเอทานอล โดยนำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ในการเพิ่มศักยภาพการผลิตเอนไซม์ ด้วยวิธีโคลนยีนเอนไซม์แอลฟา อะไมเลส จากเชื้อบาซิลลัสสายพันธุ์ดั้งเดิมที่มีศักยภาพดี ซึ่งขณะนี้งานวิจัยดังกล่าวประสบผลสำเร็จแล้ว

โดยได้มีแผนเร่งศึกษาต่อยอดงานวิจัยเพิ่มเติม ก่อนที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่ผู้ประกอบการที่สนใจให้นำไปผลิตในเชิงพาณิชย์ในอนาคต เพื่อรองรับความต้องการใช้ของโรงงานผลิตเอทานอล รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า  วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน 2555

พัฒนาสินค้ามันสำปะหลังรับ AEC สศก. ดึงชาติอาเซียนแลกเปลี่ยนข้อมูล เสริมเครื่อข่าย หาผลประโยชน์ร่วมกัน



สศก.ประสบผลสำเร็จการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะทำงานสินค้ามันสำปะหลังอาเซียนครั้งที่ 2 ดึงประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล ส่งเสริมการผลิตและการตลาดของสินค้ามันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ของอาเซียน ให้ได้รับประโยชน์ร่วมกันจากการเข้าสู่เออีซีในปี 2558

                นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานสำหรับสินค้ามันสำปะหลัง ครั้งที่ 2 (The 2nd Meeting of the National Focal Point Working Group on Tapioca) เมื่อวันที่ 6-7 มิถุนายนที่ผ่านมา ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ  ว่า สศก. ในฐานะที่เป็นหน่วยประสานงานหลักในคณะกรรมการร่วมแผนงานส่งเสริมสินค้าเกษตรและป่าไม้อาเซียน (Joint Committee on ASEAN Cooperation in Agriculture and Forest Products Promotion Scheme) ภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมืออาเซียนด้านแผนการส่งเสริมสินค้าเกษตรและป่าไม้ (Memorandum of Understanding on ASEAN Co-operation in Agriculture and Forest Products Promotion Scheme)  

                โดยการประชุมครั้งนี้ มีผู้แทนจากภาครัฐและเอกชนจากประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ สปป. ลาว ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม และไทย จำนวนกว่า 50 คน  และนับเป็นเวทีสำคัญแห่งหนึ่งสำหรับการหารือร่วมกันระหว่างผู้แทนภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการค้าสินค้ามันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ของอาเซียน เพื่อส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือร่วมกันภายในอาเซียน และพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของสินค้ามันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ในตลาดโลก รวมถึงการแสวงหาโอกาสในการสร้างด้านการแข่งขันจากการเป็น AEC ในปี 2558

                อย่างไรก็ตาม จากการประชุมดังกล่าว จะนำไปผนวกอยู่ในแผนงานการส่งเสริมสินค้าเกษตรและป่าไม้อาเซียน       ปี ค.ศ. 2010–2014 เพื่อรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการร่วมแผนงานส่งเสริมสินค้าเกษตรและป่าไม้อาเซียน (JC) ครั้งที่ 19 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 3 - 4 กรกฎาคม 2555  ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย รวมถึงการประชุมคณะทำงานสินค้ามันสำปะหลังอาเซียน ครั้งที่ 3 ที่ประเทศเวียดนามได้รับเป็นเจ้าภาพ ซึ่งจะจัดขึ้นในอีก 2 ปีถัดไป

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า 






Powered by Allweb Technology.