Company Logo
ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ www.nettathai.org สนใจสมัครสมาชิก ติดต่อ โทรศัพท์ 0 4421 2370 - 1 โทรสาร 0 4421 2372 E-mail : nettathai@hotmail.com





อัตราแลกเปลี่ยน



พยากรณ์อากาศ

​“จุรินทร์”ไฟเชียวงบกองทุนช่วยเหลือเกษตรกร 2,500 ล้าน ดูแลสินค้าเกษตร 10 กลุ่มปี 65

 

 

“จุรินทร์”เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร เคาะงบกองทุนช่วยเหลือเกษตรกรกว่า 2,500 ล้านบาท สำหรับใช้ดูแลสินค้าเกษตร 10 กลุ่ม ในปีงบประมาณ 65 พร้อมกำหนด 5 มาตรการที่จะนำมาใช้ผลักดันราคา  
         
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ครั้งที่ 1/2564 (ครั้งที่ 250) ผ่านระบบ Zoom เมื่อวันที่ 20 ส.ค.2564 ที่ผ่านมา ณ ห้องกิติยากรวรลักษณ์ ชั้น 4 สํานักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยมีนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน และน.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าร่วม

น.ส.รัชดากล่าวว่า นายจุรินทร์ได้ให้นโยบายการดูแลเกษตรกรภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ต้องเป็นไปอย่างครอบคลุม เข้าถึงปัญหาอย่างรวดเร็ว และดูแลอย่างเป็นธรรม โดยในปีงบประมาณ 2565 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร จำนวน 2,562 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือสินค้าเกษตร 10 กลุ่มสินค้า ได้แก่ ผลไม้ พืชหัว พืชผัก ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปศุสัตว์ ประมง กล้วยไม้


โดยการช่วยเหลือ จะดำเนินการผ่านมาตรการต่าง ๆ ได้แก่ 1.เพิ่มช่องทางระบายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิต 2.เสริมสภาพคล่องด้านเงินทุน ชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ยืม เพื่อใช้ในการรับซื้อผลผลิตจากการเกษตรกรเพื่อจำหน่ายหรือเก็บสต๊อกไว้รอจำหน่าย 3.สร้างการรับรู้เพื่อเพิ่มการบริโภค กระตุ้นการบริโภค 4.ผลักดันและบริหารจัดการส่งออก เพื่อลดอุปทานส่วนเกินในประเทศ 5.ส่งเสริมด้านปัจจัยการผลิตเพื่อพัฒนาคุณภาพปรับคุณภาพและด้านทุนการผลิต

ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดราคาเป้าหมายสินค้าเกษตรปี 2565 เพื่อกองทุนฯ จะได้ใช้เป็นเกณฑ์ในการช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป

สำหรับผลการดำเนินการในปีงบประมาณ 2564 นับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2563-15 ก.ค.2564 กองทุนฯ ได้จัดสรรงบประมาณไปแล้ว 2,100 ล้านบาท ในการดูแลเกษตรกรในกลุ่มสินค้าผลไม้ ไข่ไก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน พืชหัว พริก ข้าวเหนียว ปศุสัตว์ ประมง เป็นการช่วยเหลือผ่านการเพิ่มช่องทางกระจายสินค้าออกนอกแหล่งผลิต ผลักดันการส่งออก และชดเชยดอกเบี้ยเพื่อการชะลอการจำหน่ายโดยการเก็บสต๊อก

ที่มา : Commerce News Agency

“จุรินทร์”เคาะเดินหน้าประกันรายได้มันปี 3 ไฟเขียวลุยยุทธศาสตร์ครั้งแรกประวัติศาสตร์

 

 

“จุรินทร์”ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) เคาะเดินหน้าโครงการประกันรายได้ปี 3 กำหนดเงื่อนไขเหมือนเดิม ประกันกิโลละ 2.50 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 100 ตัน แต่ระยะเวลาการรับสิทธิ์ของเกษตรกรจะครอบคลุมทั่วถึงมากขึ้น วงเงิน 6,811 ล้านบาท พร้อมไฟเขียว 4 มาตรการเสริมดันราคา ปลดล็อกเกษตรกรตกหล่น 8 หมื่นรายได้สิทธิ์โครงการปี 2 และเห็นชอบยุทธ์ศาสตร์มันปี 64-67 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
         
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 ส.ค.2564 ที่ผ่านมา ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสําปะหลัง (นบมส.) ครั้งที่1/2564 ผ่านระบบ Zoom ณ ห้อง 201 สภาผู้แทนราษฎร อาคารรัฐสภา โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 3 เหมือนกับปี 1 และ ปี 2 ยกเว้นระยะเวลาการรับสิทธิ์ของเกษตรกรที่จะครอบคลุมเกษตรกรอย่างทั่วถึงมากขึ้น

โดยหลักเกณฑ์ได้กำหนดราคาและปริมาณประกันรายได้ คือ มันสำปะหลัง เชื้อแป้ง 25% กิโลกรัม (กก.) ละ 2.50 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 100 ตัน ไม่ซ้ำแปลง ผู้มีสิทธิ์ได้รับการชดเชย ขึ้นทะเบียนเพาะปลูกมันสำปะหลังกับกรมส่งเสริมการเกษตร ที่มีวันเพาะปลูกตั้งแต่ 1 ต.ค.2563-31 มี.ค.2565 และแจ้งระยะเวลาเก็บเกี่ยวนับจากวันที่เพาะปลูกไม่น้อยกว่า 8 เดือน แต่ไม่เกิน 12 เดือน ระยะเวลาชดเชยส่วนต่าง 1 ธ.ค.2564–1 พ.ย.2565 ระยะเวลาโครงการ 1 พ.ย.2564–31 พ.ค.2566 วงเงินงบประมาณ 6,811 ล้านบาท
         

ทั้งนี้ ยังได้เห็นชอบมาตรการคู่ขนาน 4 โครงการ ที่จะเข้ามาช่วยรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง ได้แก่ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อกมันสำปะหลัง และโครงการเพิ่มศักยภาพการแปรรูปมันสำปะหลัง

นอกจากนี้ ได้เห็นชอบการเข้าร่วมโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2563/64 ที่ตกหล่น ของเกษตรกรที่มีวันเพาะปลูกก่อน 1 เม.ย.2563 และเก็บเกี่ยวหลังวันที่ 1 ธ.ค.2563 จำนวน 8 หมื่นกว่าราย และเห็นชอบขยายระยะเวลาดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลังแบบครอบคลุมพื้นที่เดิมสิ้นสุดโครงการวันที่ 30 ก.ย.2564 เป็น สิ้นสุดโครงการวันที่ 31 มี.ค.2565 เห็นชอบค่าขนส่งเพิ่มเติมภายใต้กรอบวงเงินค่าท่อนพันธุ์เดิมที่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) จำนวน 24.8 ล้านบาท โดยใช้กรอบวงเงินเดิมที่เคยได้รับอนุมัติ
         
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมครั้งนี้ ได้มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ปี 2564–2567 ถือว่าเป็นเรื่องระดับชาติ เพราะการทำเป็นยุทธศาสตร์นี้ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยวิสัยทัศน์ คือ ไทยต้องครองความเป็นผู้นำด้านการค้าและการผลิตมันสำปะหลังคุณภาพดีอันดับ 1 ของโลกอย่างต่อเนื่อง มีเป้าหมาย ดังนี้ 1.มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 3% 2.ราคามันสำปะหลังภายในประเทศมีเสถียรภาพและเป็นธรรม และ 3.เกษตรกรเข้าถึงพันธุ์มันสำปะหลังต้านทานโรคใบด่างมันสำปะหลัง (CMD) ให้เชื้อแป้งสูงและมีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ไม่ต่ำกว่า 5 ตันภายในปี 2567  

ที่มา: Commerce News Agency

[ด่วน!!!] จีนประกาศขยายระยะเวลาการบังคับใช้ระเบียบ 248 เรื่องการขึ้นทะเบียนผู้ผลิตอาหารนำเข้าจากต่างประเทศไปอีกแปดเดือน

 

 

 ตามที่สาธารณรัฐประชาชนจีนมีการประกาศ notification ใน WTO ภายใต้ GB/TBT/N/CHN1522 และ G/SPS/N/CHN/1191 และได้เผยแพร่กฎระเบียบว่าด้วยการขึ้นทะเบียนผู้ผลิตอาหารนำเข้าจากต่างประเทศ (Decree 248) เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา โดยประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2565 นั้น

               ล่าสุด จีนได้มีการประกาศในการประชุม WTO/SPS ครั้งที่ 80 เมื่อวันที่ 15 – 16 กรกฎาคม 2564 ว่า จีนจะเลื่อนระยะเวลาการบังคับใช้ (transition period) ของระเบียบ 248 ให้กับประเทศผู้ส่งออกทุกประเทศ (รวมไทย) ออกไปอีก 8 เดือน ซึ่งในการประชุมดังกล่าว หลายประเทศได้แสดงความกังวลและให้ข้อคิดเห็นทักท้วงต่อระเบียบดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

 

**********************************************************

 

สาระสำคัญของระเบียบ 248

          ► Decree 248 กฎระเบียบว่าด้วยการขึ้นทะเบียนผู้ผลิตอาหารนำเข้าจากต่างประเทศ (Decree 248) Regulations on the Registration and Administration of Overseas Producers of Imported Food         

ระบุรายละเอียดการขึ้นทะเบียนผู้ผลิตอาหารจากต่างประเทศ (ครอบคลุม food manufacturers, processors, and storage facilities) ไม่รวมถึง food additives และ food-related products  โดยตามระเบียบแบ่งกลุ่มการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตอาหารออกเป็น 2 กลุ่มหลัก

          # 1 ขึ้นทะเบียนกับ Competent Authority ของประเทศผู้ส่งออก

          ระบุชนิดอาหารแบ่งแยกออกเป็น 20 ประเภท (1) เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ (2) ผลิตภัณฑ์ไส้บรรจุไส้กรอก (sausage casing) (3) ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ (4) ผลิตภัณฑ์นม (5) รังนกและผลิตภัณฑ์จากรังนก (6) ผลิตภัณฑ์จากผึ้ง (7) ไข่และผลิตภัณฑ์จากไข่ (8) น้ำมันและไขมันสำหรับการบริโภค (9) เมล็ดพืชน้ำมัน (oilseeds) (10) ผลิตภัณฑ์จากข้าวสาลีสำเร็จรูป (stuff wheat products) (11) เมล็ดธัญพืชสำหรับการบริโภค (12) ผลิตภัณฑ์เมล็ดธัญพืชบดและมอลต์เพื่อการอุตสาหกรรม (13) ผักสดและผักอบแห้ง (14) ถั่วอบแห้ง (15) เครื่องปรุงรส (16) ถั่วเปลือกแข็งและเมล็ดพืช (17) ผลไม้แห้ง (18) เมล็ดกาแฟและเมล็ดโกโก้ที่ยังไม่ผ่านการคั่ว และ (19) อาหารสำหรับวัตถุประสงค์พิเศษ (food for special dietary purposes) และ (20) อาหารเพื่อสุขภาพ

          # 2 ผู้ผลิตอาหารที่ไม่ได้อยู่ใน 20 รายการดังกล่าว สามารถขึ้นทะเบียนกับ GACC ได้โดยตรง (หรือมีการดำเนินการผ่านตัวแทน)

 

ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถติดต่อ

หมายเลขโทรศัพท์ 02-561-2277 ต่อ 1319 หรือ Email :  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

“เฉลิมชัย” สั่งปูพรมสำรวจ และเร่งทำลายพื้นที่ใบด่างมันสำปะหลัง

 

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากการที่พบการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังซึ่งสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรในหลายพื้นที่ จึงได้สั่งการกรมส่งเสริมการเกษตร เร่งดำเนินการสำรวจพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง พร้อมกำชับให้ทำความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลังให้หมดไป โดยขณะนี้พบว่าในบางพื้นที่ยังมีเกษตรกรบางรายที่พบการระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลังในแปลง แต่ไม่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ กรมส่งเสริมการเกษตรจึงต้องชี้แจงข้อมูลเน้นหนักถึงขั้นตอนการดำเนินงาน และประโยชน์ที่เกษตรกรและประเทศชาติจะได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ คือ ภาครัฐจะดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโรคใบด่างมันสำปะหลังด้วยการเข้าทำลายพื้นที่พบโรคใบด่างมันสำปะหลังและจ่ายค่าชดเชยการทำลายให้กับเกษตรกรหลังตรวจสอบผลการทำลายไปแล้ว 30 วัน การส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ท่อนพันธุ์สะอาดและทนทานต่อโรค โดยจะสนับสนุนท่อนพันธุ์ จำนวนไร่ละ 500 ลำ รวมทั้งมาตรการทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 สำหรับเกษตรกรเจ้าของแปลงที่พบโรคเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจต่อการเข้าร่วมโครงการต่อไป 

 

 

 

 

 นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลังแบบครอบคลุมพื้นที่ ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ผลการดำเนินการล่าสุด (ข้อมูล ณ วันที่ 21 กรกฎาคม 2564) จากการสำรวจพื้นที่ของสำนักงานเกษตรจังหวัด/อำเภอ พบพื้นที่ระบาด 187,508.81 ไร่ ใน 27 จังหวัด คือ จังหวัดกาญจนบุรี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยนาท ชัยภูมิ นครราชสีมา นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ มหาสารคาม มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ลพบุรี ศรีสะเกษ สระแก้ว สระบุรี สุพรรณบุรี สุรินทร์ อุทัยธานี อุดรธานี และอุตรดิตถ์ โดยมีเกษตรกรสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ แล้ว 6,174 ราย พื้นที่ 59,227.19 ไร่ ซึ่งในจำนวนนี้มีพื้นที่ที่ทำลายแล้ว 1,158.71 ไร่ (คิดเป็น ร้อยละ 0.62 ของพื้นที่ระบาด) และพื้นที่ที่อยู่ระหว่างดำเนินการทำลาย 58,068.48 ไร่ (คิดเป็นร้อยละ 30.97 ของพื้นที่ระบาด)

 

 

 

ทั้งนี้ จากการสำรวจการระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลังในจังหวัดสระแก้ว (ข้อมูล ณ วันที่ 21 กรกฎาคม 2564) พบมีการระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลังถึง 54,392.25 ไร่ แม้ว่าจะมีปริมาณการระบาดค่อนข้างสูง แต่เป็นจังหวัดที่ประสบความสำเร็จในการสร้างความร่วมมือกับเกษตรกร ภายหลังจากการให้ข้อมูล วิธีดำเนินการ และรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับโครงการฯ รวมไปถึงความรู้เกี่ยวกับโรคใบด่างมันสำปะหลัง การป้องกันกำจัด มาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และการใช้พันธุ์มันสำปะหลัง ทนทานโรค เกษตรกรให้ความสนใจและสมัครเข้าร่วมโครงการแล้ว 50,391 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 92.64

          นอกจากนี้สำนักงานเกษตรจังหวัด/อำเภอ ในพื้นที่เป้าหมายได้ลงพื้นที่สำรวจแปลงพันธุ์สะอาด ซึ่งเป็นเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ทนทานต่อโรคใบด่าง โดยแปลงพันธุ์สะอาดที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมส่งเสริมการเกษตรนั้นจะต้องไม่พบการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง หรือห่างจากพื้นที่ที่พบการระบาดไม่น้อยกว่า 6 กิโลเมตร และต้องปลูกพันธุ์มันสำปะหลังพันธุ์ทนทาน ได้แก่ พันธุ์ระยอง 72 เกษตรศาสตร์ 50 ห้วยบง 60 และระยอง 90 และพันธุ์อื่น ๆ ที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานราชการใน        การเข้าร่วมโครงการได้ มีเกษตรกรสนใจสมัครเข้าร่วมแปลงพันธุ์สะอาดแล้วรวม พื้นที่ 2,331.46 ไร่ (ข้อมูล ณ วันที่ 21 กรกฎาคม 2564) และคาดว่าจะมีเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ทนทานโรคใบด่างสนใจเข้าร่วมโครงการเพื่อร่วมกันผลิตท่อนพันธุ์ทนทานโรคใบด่างได้เพียงพอกับความต้องการ

          หากเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังสนใจเข้าร่วมโครงการ หรือมีข้อสอบถามเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ยชุมชน โทร02-955-1626 หรือ สำนักงานเกษตรอำเภอ/จังหวัดใกล้บ้านท่าน อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติม

 

        

 

ที่มา : ศูนย์ข่าวกรมส่งเสริมการเกษตร

 






Powered by Allweb Technology.