Company Logo
ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ www.nettathai.org สนใจสมัครสมาชิก ติดต่อ โทรศัพท์ 0 4421 2370 - 1 โทรสาร 0 4421 2372 E-mail : nettathai@hotmail.com





อัตราแลกเปลี่ยน



พยากรณ์อากาศ

พาณิชย์ ตรวจเข้มมาตรฐานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังส่งออก สร้างความเชื่อมั่นผู้ซื้อ

 

    

 

กรมการค้าต่างประเทศคุมเข้มมาตรฐานมันสำปะหลังส่งออก ส่งทีมออกตรวจสอบสินค้ามันสำปะหลังให้ผลิตเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด พร้อมกำชับธุรกิจตรวจสอบตรวจให้ถูกต้อง เผยยังจะไปตรวจถึงขั้นตอนการส่งออกด้วย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อ และช่วยยกระดับราคาหัวมันสำปะหลังสดให้เพิ่มขึ้น ล่าสุดตลาดจีนมีความต้องการซื้อไปผลิตแอลกอฮอล์ และรับเทศกาลตรุษจีนที่จะมีขั้นช่วงปลายม.ค.63

 

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานผลิตมันสำปะหลัง ที่อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อตรวจติดตามสถานการณ์การค้า และกำกับดูแลการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังให้เป็นไปตามมาตรฐาน เพราะสินค้าแป้งมันสำปะหลังดิบ และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ถูกกำหนดให้เป็นสินค้ามาตรฐาน ซึ่งในการส่งออกทุกล็อตจะต้องได้รับใบรับรองมาตรฐานสินค้าเพื่อใช้ประกอบพิธีการศุลกากร และเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพมาตรฐานสินค้ามันสำปะหลังจากประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก

 

“กรมฯ จะส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบโรงงานมันสำปะหลังอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การผลิตสินค้าเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด และยังได้กำชับผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้าให้เคร่งครัดปฏิบัติงานให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และมีความเป็นกลางในการตรวจสอบมาตรฐานสินค้า รวมทั้งได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สำนักงานมาตรฐานสินค้า ออกไปกำกับดูแลการส่งออกสินค้ามาตรฐานดังกล่าว โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิดด้วย”

 

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว จะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมการตลาดสินค้ามันสำปะหลังให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ ตลอดจนเป็นการผลักดันให้ผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่อุปทาน ผลิตสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด ซึ่งจะเป็นการยกระดับราคาสินค้ามาตรฐาน และในที่สุดจะส่งผลให้ราคาหัวมันสำปะหลังสดที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวสูงขึ้น สอดรับกับนโยบายประกันรายได้ของรัฐบาลอีกทางหนึ่ง

 

นายกีรติ กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทย เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดจีน ที่ต้องการนำผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไปผลิตแอลกอฮอล์รองรับฤดูหนาวของจีนที่กำลังจะมาถึง รวมถึงเทศกาลตรุษจีนในช่วงปลายเดือนม.ค.2563 กรมฯ จึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ให้ผลิตสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด เพื่อช่วยยกระดับราคาหัวมันสำปะหลังสดให้สูงขึ้น

 

ปัจจุบัน เป็นช่วงที่ฤดูกาลหัวมันสำปะหลังเริ่มออกสู่ตลาด โดยหัวมันสดส่วนหนึ่งจะเข้าสู่อุตสาหกรรมเพื่อผลิตเป็นแป้งมันสำปะหลัง และอีกส่วนหนึ่งจะเข้าสู่อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ได้แก่ มันเส้น มันชิ้น และมันอัดเม็ด โดยสถานการณ์ราคามันสำปะหลังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี ราคาเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 2.15-2.50 บาท ที่เชื้อแป้ง 25% แต่หากเชื้อแป้ง 30% ราคาจะขยับขึ้นไปสูงถึงกก.ละ 2.85 บาท

 

สำหรับ ปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในภาพรวมทุกประเภทสินค้าในช่วง 10 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-ต.ค.) มีปริมาณ 5.83 ล้านตัน ลดลง 17% คิดเป็นมูลค่า 2,260 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 13%

 

ที่มา : newsdatatoday.com 28 ธันวาคม 25862

รมว.พาณิชย์ เตรียมเสนอครม.สัญจร ขออนุมัติงบฯ 9.6 พันลบ.ประกันรายได้มันสำปะหลัง จ่ายงวดแรก 1 ธ.ค.

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง ที่ศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรีว่า ที่ประชุมอนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังปี 2562/2563 วงเงิน 9,671 ล้านบาท โดยจะประกันรายได้ผลผลิตหัวมันสำปะหลังสด เชื้อแป้ง 25% ในพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศ ในกิโลกรัมละ 2.50 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 100 ตัน โดยจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ในวันพรุ่งนี้

 

 

 

นายจุรินทร์ กล่าวว่า รัฐบาลจะโอนเงินงวดแรกในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 สำหรับเกษตรกรที่ได้รับสิทธิที่เก็บเกี่ยวตั้งแต่วันที่
1 ตุลาคม 2562 – 30 พฤศจิกายน 2562 (ประมาณ 20% ของเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน) และจะโอนเงินทุกวันทำการแรกของเดือนให้กับเกษตรกรที่เหลือที่เก็บเกี่ยวตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม ถึง 31 เมษายน 2563 (ประมาณ 80%) และจะโอนเงินครั้งสุดท้ายวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 รวมทั้งมีการเก็บเกษตรกรที่ตกหล่นจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 และเพื่อเป็นการลดภาระในการเข้าร่วมโครงการฯ เกษตรกรไม่ต้องทำสัญญาประกันรายได้กับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) และภายใต้โครงการนี้ รัฐบาลจะจ่ายเงินทุกวันที่หนึ่งของเดือน จำนวน 12 ครั้งต่อปี

สำหรับเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการต้องขึ้นทะเบียนผู้ปลูกมันสำปะหลังกับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2561 – 30 พฤศจิกายน 2562 ที่มีจำนวนประมาณ 540,000 ราย และจะเปิดโอกาสให้เกษตรกรขึ้นทะเบียนได้ต่อเนื่อง โดยเกษตรกรสามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยวเป็นต้นไป

ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถใช้สิทธิได้เพียงครั้งเดียว และเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวหลังจากนั้น สามารถขึ้นทะเบียนใหม่สำหรับโครงการระยะที่ 2 และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) จะโอนเงินชดเชยส่วนต่างเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง ตามช่วงระยะเวลาที่กำหนดภายใน 3 วัน นับตั้งแต่วันที่ประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงในแต่ละรอบ

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบมาตรการคู่ขนานเพื่อรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง ในการสร้างมาตรฐานของมันสำปะหลัง และเข้มงวดการกำกับดูแลการนำเข้าและส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังให้เป็นไปตามมาตรฐานอย่างเคร่งครัด รวมทั้งสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการลานมัน โรงแป้ง รายละไม่เกิน 350,000 บาท เพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการจัดหาเครื่องร่อนดิน และสนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกรที่มีการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับมันสำปะหลัง นำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรวบรวมหรือรับซื้อหัวมันสำปะหลังสด มันสำปะหลังเส้น เพื่อจำหน่ายต่อ และหรือแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์

นอกจากนี้ที่ประชุมฯ รับทราบกับแนวทางการขยายตลาดมันสำปะหลังต่างประเทศ ตามกลยุทธ์ รักษาตลาดเดิม ฟื้นฟูตลาดเก่า และขยายไปยังตลาดใหม่ ซึ่งการรักษาตลาดเดิม คือ ตลาดจีน โดยการเร่งรัดการจัดกิจกรรมในมณฑลสำคัญ เพื่อเพิ่มยอดส่งออก และจะมีการขยายตลาดใหม่ไปยังตุรกี นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ และอินเดีย รวมถึงฟื้นฟูตลาดเก่า คือสหภาพยุโรป (EU) โดยจะมีการเจรจากับสหภาพยุโรปให้เพิ่มการจัดสรรปริมาณโควตาภาษีสินค้าแป้งดิบ จากปัจจุบันไม่เกินปีละ 10,000 ตัน ให้ไทยได้รับโควตาสินค้าแป้งมันสำปะหลังในปริมาณเป้าหมายที่ 20,000 ตัน ซึ่งน่าจะดำเนินการเจรจาได้เสร็จสิ้นกลางปีหน้า

อีกทั้งยังให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจในการศึกษาแนวทางการจัดการกับโรคใบด่าง ให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรรับไปดำเนินการ ภายใน 1 สัปดาห์ และการกำจัดโรคใบด่างทั้งในที่ดินที่มีและไม่มีเอกสารสิทธิ์ด้วย

รายงานข่าวกรมการค้าภายใน แจ้งว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบที่จะส่งเสริมการใช้เอทานอลให้เป็นไปตามแผนพลังงานทดแทนฯ ที่กำหนดการใช้เป็น 11.3 ล้านลิตร/วัน ในปี 2579 (ปัจจุบันมีการใช้อยู่ที่ 4.5 ล้านลิตรต่อวัน) และแก้ไขพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 ให้โรงงานสุรากลั่นแห่งอื่น นอกเหนือจากองค์การสุราฯ ผลิตสุราสามทับออกจำหน่ายภายในประเทศได้ และลดการนำเข้าเอทานอลเกรดอุตสาหกรรม โดยให้โรงงานเอทานอลในประเทศไทย สามารถผลิตและจำหน่ายให้แก่อุตสาหกรรมอื่นได้ หรือเป็นผู้รับจ้างผลิต (Outsource) ให้แก่องค์การสุราได้ด้วยการใช้เอทานอลที่ผลิตในประเทศ

 ที่มา : ข่าวเศรษฐกิจ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

“จุรินทร์”นำทัพเอกชนลุยจีน เซ็น MOU ซื้อขายมัน 1.8 หมื่นล.

 

 

“จุรินทร์” นำทัพผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทยลุยเมืองหนานหนิง รุกขยายตลาดพร้อมลงนาม MOU ซื้อ-ขาย 2.6 ล้านตันมูลค่ากว่า 1.8 หมื่นล้านบาทสร้างดีมานด์รองรับผลผลิตปี 2562/63 ที่กำลังจะออกสู่ตลาด

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดนำคณะผู้แทนภาคเอกชน ได้แก่ สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย และสมาคมแป้งมันสำปะหลังไทยเดินทางเยือนเมืองหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่19-22 กันยายน 2562  เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมขยายตลาดมันสำปะหลังจีน และผลักดันให้จีนนำเข้ามันสำปะหลังเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น

ในการนี้จะมีพิธีแลกเปลี่ยน MOU ซื้อ-ขายมันสำปะหลังเส้นและแป้งมันสำปะหลัง ระหว่างผู้ส่งออกไทยกับผู้นำเข้าจีน จำนวน 4 คู่ ปริมาณรวม 2.68 ล้านตัน มูลค่ารวม 608 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 18,635 ล้านบาท โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี ถือเป็นการหาตลาดล่วงหน้าให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังไทย รองรับผลผลิตมันสำปะหลังปี 2562/63 ที่กำลังจะออกสู่ตลาด สร้างความเชื่อมั่นให้เกษตรกรว่าผลผลิตของตนจะสามารถจำหน่ายได้อย่างต่อเนื่องในราคาที่คุ้มค่ากับต้นทุนการผลิต

 สำหรับอุตสาหกรรมมันสำปะหลังของไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก โดยเฉพาะสินค้ามันเส้น 99% พึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดจีนเพียงตลาดเดียว อาจส่งผลกระทบกับเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง ในช่วงที่ผ่านมากรมฯ ได้นำคณะภาคเอกชนเดินทางไปเจรจาขยายตลาดส่งออกสินค้ามันสำปะหลังในประเทศที่มีศักยภาพอย่างต่อเนื่อง เช่น อินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ตุรกี นิวซีแลนด์ เป็นต้น ซึ่งนอกจากการแสวงหาตลาดใหม่แล้ว กรมฯ ยังมีแนวทางในการรักษาตลาดเดิมเอาไว้ โดยเมืองหนานหนิง ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ถือเป็นตลาดสำคัญที่มีศักยภาพในการนำเข้ามันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อาหาร อาหารสัตว์ สารให้ความหวาน  กรดซิตริก เป็นต้น

สถิติการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2562 มีปริมาณรวม 4.521 ล้านตัน มูลค่า 1,686.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปริมาณและมูลค่าลดลง 11.63% และ 6.88% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่ส่งออกปริมาณรวม 5.116 ล้านตัน มูลค่า 1,810.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ



 

 

“จุรินทร์”เคาะงบ 286 ล้าน ชดเชยไร่มัน 3 พันต่อไร่

 

นบมส.เห็นชอบให้ใช้งบกลาง 286 ล้านบาท แก้ปัญหาโรคใบด่างในมันสำปะหลัง ทั้งเพื่อทำลายแปลงที่เกิดโรคระบาดกว่า 45,000 ไร่ และชดเชยความเสียหายให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบไร่ละ 3,000 บาท หลังพบระบาดใน 11 จังหวัด

นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง หรือ นบมส.ระบุภายหลังการประชุม(19 ก.ย.62) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการป้องกัน และกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลังตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

 

โดยจะใช้งบกลางวงเงิน 286 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 จ่ายชดเชยใน 2 ส่วนคือการทำลายแปลงที่มีการระบาดและชดเชยให้กับเกษตรกร มีพื้นที่ทั้งหมด 45,400 ไร่ ทั้งนี้ เกษตรกรต้องแจ้งการพบโรคตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562ถึง 30 มิถุนายน 2563 และแปลงมันที่ปลูกต้องขึ้นทะเบียนปลูกมันสำปะหลังปลูกตั้งแต่ 1 เมษายน 2562 ถึง 30 กันยายน 2562

ส่วนกรณีที่พบต้นพันธุ์ เป็นโรคหลัง 30 กันยายน 2562 ให้กระทรวงเกษตร ฯไปพิจารณาใช้ พ.ร.บ.กักกันพืช ปี 2551เพื่อการควบคุมการระบาด เช่น การประกาศเป็นเขตควบคุมโรค และตามกฎหมายนั้นเจ้าหน้าที่สามารถทำลายมันสำปะหลังที่ปลูกได้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ จะนำเสนอ ครม.เห็นชอบอีกครั้ง เนื่องจากหากเกิดโรคแล้วจะเกิดผลกระทบต่อเกษตรกรมากและจะมีผลกระทบต่อมันสำปะหลังในภาพรวมของประเทศและสุดท้ายจะกระทบต่อปริมาณการใช้ในประเทศและการส่งออกด้วย

ขณะที่กรมส่งเสริมการเกษตร ระบุว่า หากแปลงปลูกมีการระบาดของโรคจะส่งผลให้ผลผลิตเสียหาย 100 % คาดว่าผลผลิตมันสำปะหลังจะเสียหายประมาณ 160,000 ตัน หรือประมาณ 1% จากพื้นที่ปลูกทั่วประเทศ 5 ล้านไร่

 

 

“จะมีการจ่ายชดเชย 2 ส่วนคือการจ่ายเงินในการกำจัดต้นมันสำปะงไร่ละ 3,000 บาท วงเงิน 136 ล้านบาทและการจ่ายเงินชดเชยรายได้ให้แก่เกษตรกรไร่ละ 3,000 บาทวงเงิน 136 ล้านบาท ส่วนอีก 14 ล้านบาทเป็นค่าบริหารจัดการ โดยมีเงื่อนไขจะต้องได้รับคำยืนยันจากกรมวิชาการเกษตรว่าเป็นโรคใบด่างหรือไม่ ส่วนสถานการณ์ราคามันสำปะหลังขณะนี้เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 2 บาท คาดว่าจากผลผลิตที่ลดลงจะส่งผลให้ราคามันสำปะหลังปรับตัวสูงขึ้น

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

“เฉลิมชัย” อัดงบ 272 ล้านบาท ตัดวงจร โรคไวรัสใบด่างมันสําปะหลัง พื้นที่ 8 จังหวัด

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังประชุม ครม.เศรษฐกิจว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแก้ปัญหาโรคไวรัสใบด่างในมันสำปะหลังเกิดจากเชื้อไวรัส เพื่อเกษตรกรจะได้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคและความเสียหายของอุตสาหกรรมมันสำปะหลังทั้งระบบ

สำหรับแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่สามารถขายผลผลิตคุณภาพดีได้ โดยชดเชยให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ที่ได้รับผลกระทบ ไร่ละไม่เกิน 3,000 บาท และเป็นค่าทำลาย ไร่ละ 3,000 บาท จะดำเนินการทำลายไร่มันสำปะหลังที่ติดโรค โดยการขุด ถอน และฝังดิน โดยตั้งเป้าทำลายไว้ที่ จำนวน 45,399 ไร่ โดยขณะนี้คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบการดำเนินการและเบิกจ่ายงบประมาณดังกล่าวแล้ว โดยรวมวงเงินอนุมัติไว้ จำนวน 272ล้านบาท เป็นค่าชดเชย 136ล้านบาท และค่าทำลาย 136 ล้านบาท รวมทั้ง สำนักงบประมาณได้จัดสรรงบประมาณให้กระทรวงพาณิชย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ด้านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเร่งดำเนินการควบคุม ป้องกัน และยับยั้งการระบาดของโรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง ไม่ให้สร้างความเสียหายต่อการผลิตและการค้ามันสำปะหลังของไทย ตลอดจนช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดและต้องถอนทำลายต้นมันสำปะหลังทิ้งด้วย ซึ่งจะมีมาตรการทั้งในระยะสั้น และระยะยาว



ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร มีเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังทั้งประเทศรวม 50 จังหวัด จำนวน 523,589 ครัวเรือน พื้นที่กว่า 8.6 ล้านไร่ จึงขอให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่ 8 จังหวัดข้างต้น และพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังอื่น ๆ ทั้ง 50 จังหวัด ระมัดระวังโรคดังกล่าว โดยสามารถป้องกันการระบาดได้โดยไม่นำเข้าท่อนพันธุ์หรือส่วนขยายพันธุ์จากต่างประเทศ ยกเว้นมันเส้นและหัวมันสด ที่ไม่ติดเหง้าหรือส่วนขยายพันธุ์มาด้วย เลือกใช้ท่อนพันธุ์ที่ปลอดโรคและทราบแหล่งที่มา สำรวจแปลงมันสำปะหลังอย่างสม่ำเสมอ กำจัดแมงพาหะนำโรค นอกจากนี้ หากพบมันสำปะหลังที่มีอาการข้างต้นให้รีบแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอหรือสำนักงานเกษตรจังหวัดทันที

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังกล่าว เพิ่มเติมอีกว่า การแพร่ระบาดของโรคไวรัสใบด่างในมันสำปะหลังเกิดจากเชื้อไวรัส SLCMV หรือ Sri Lankan Cassava Mosaic Virus ทำให้ใบด่างเหลือง ใบเสียรูปทรง ลดรูปและยอดที่แตกใหม่จะแสดงอาการใบเหลือง ลำต้นแคระแกร็น ส่งผลทำให้ต้นโตไม่เต็มที่ ผลผลิตเสียหาย หลังจากในปีที่ผ่านมาโรคนี้ได้ถูกตรวจพบที่ จ.รัตนคีรี ประเทศกัมพูชา แล้วแพร่เข้ามาในพื้นที่จังหวัดสระแก้วแนวชายแดนติดประเทศกัมพูชา



แม้ว่าจะพยายามจำกัดพื้นที่การระบาด แต่มีสถานการณ์ภัยแล้งเกิดขึ้นชาวไร่มันปลูกมันไปแล้ว 2-3 รอบเสียหายหมด ก็ต้องเริ่มต้นปลูกกันใหม่อีก เกษตรกรต้องการท่อนพันธุ์มันมากขึ้น ส่งผลให้ราคาท่อนพันธุ์ในปีนี้สูงถึง 2-3 บาท/ท่อน ซึ่งการระบาดของโรคนี้ ได้ขยายวงออกสู่จังหวัดข้างเคียง ผ่านการซื้อขายท่อนพันธุ์มัน ดังนั้น อยากขอความร่วมมือจากเกษตรกร ก่อนจะซื้อท่อนพันธุ์มันสำปะหลังจากที่ใด ควรตรวจสอบว่าท่อนพันธุ์นั้นติดโรคหรือไม่ ก็เพื่อป้องกันไม่ให้การระบาดของโรคลุกลามขยายวงกว้าง โดยพบการระบาดแล้วในพื้นที่ 8 จังหวัดบริเวณแนวชายแดนใกล้กับประเทศกัมพูชา ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สระแก้ว สุรินทร์ ศรีสะเกษ ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และชลบุรี

ที่มา :  ผู้จัดการออนไลน์   6 ก.ย. 2562






Powered by Allweb Technology.