Company Logo
ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ www.nettathai.org สนใจสมัครสมาชิก ติดต่อ โทรศัพท์ 0 4421 2370 - 1 โทรสาร 0 4421 2372 E-mail : nettathai@hotmail.com





อัตราแลกเปลี่ยน



พยากรณ์อากาศ

รมว.พาณิชย์ เคาะประกันรายได้มันสำปะหลังปี 63/64 พร้อมมาตรการสินเชื่อ เตรียมเสนอครม.สัปดาห์หน้า

 

 

นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) ซึ่งมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน เห็นชอบในหลักการให้มีโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2563/64 โดยราคาและปริมาณประกันรายได้เท่ากับปีที่ผ่านมาคือ มันสำปะหลัง เชื้อแป้ง 25% กก.ละ 2.50 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 100 ตัน ต้องไม่ซ้ำแปลง โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้

1.ต้องขึ้นทะเบียนเพาะปลูกปี 63/64 ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.63 ถึง 31 มี.ค.64 กับกรมส่งเสริมการเกษตร

2.ต้องเป็นเกษตรกรผู้ผลิตมันสำปะหลังด้วยตนเองและกรรมสิทธิ์เป็นของเกษตรกร

3.แจ้งระยะเวลาเก็บเกี่ยวกับกรมส่งเสริมการเกษตรนับจากวันที่เพาะปลูกไม่น้อยกว่า 8 เดือน

4.การกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิง ระหว่างวันที่ 1 ธ.ค.63 ถึง 30 พ.ย.64 ประกาศเกณฑ์กลางอ้างอิงทุกวันที่ 1 ของเดือน ระยะเวลา 12 เดือน

โดยโครงการดังกล่าวในงวดแรกครอบคลุมเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งเพาะปลูกตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.63 คาดว่าจะเก็บเกี่ยวก่อนวันที่ 1 ธ.ค.63 สำหรับการประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงงวดสุดท้ายครอบคลุมเกษตรกรที่ระบุวันเก็บเกี่ยวตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.64 เป็นต้นไป ซึ่งจะนำเข้าเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2563/64 จำนวน 4 โครงการ ได้แก่

1.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง โดยเป็นการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือ เกษตรกรในการเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) และคุณภาพของผลผลิต เป้าหมาย 5,000 รายๆ ละไม่เกิน 230,000 บาท วงเงินกู้รวม 1,150 ล้านบาท งบประมาณ 69 ล้านบาท

2.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โดยสนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกรนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรวบรวมหรือรับซื้อหัวมันสำปะหลังสด มันสำปะหลังเส้น เพื่อจำหน่ายต่อ และ/หรือแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม วงเงินสินเชื่อ 1,500 ล้านบาท งบประมาณ 45 ล้านบาท

3.โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อกมันสำปะหลัง สนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการแปรรูปมันสำปะหลัง (ลานมัน/โรงแป้ง) ที่เข้าร่วมโครงการเก็บสต็อก ในรูปแบบมันเส้น/แป้งมัน ระยะเวลา 60 – 180 วัน เป้าหมายวงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท งบประมาณชดเชยดอกเบี้ย 225 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

4.การบริหารจัดการการนำเข้าส่งออก และเข้มงวดการกำกับดูแลการนำเข้าและส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังให้เป็นไปตามมาตรฐานอย่างเคร่งครัด

ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบการขอขยายพื้นที่ดำเนินโครงการป้องกันและกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลังให้ครอบคลุมทุกจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง เนื่องจากการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังมีแนวโน้มแพร่ระบาดไปยังหลายพื้นที่ จากพื้นที่ดำเนินโครงการ 11 จังหวัด ปัจจุบันเพิ่มเป็น 22 จังหวัด โดยเพิ่ม 11 จังหวัด ทำให้การดำเนินโครงการไม่สามารถตัดวงจรการระบาดของโรคได้จำเป็นต้องทำให้ครอบคลุมพื้นที่ปลูกทุกจังหวัด พร้อมกันนี้ห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ปี พ.ศ.2563-2567 โดยให้อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นประธานอนุกรรมการ ในส่วนขององค์ประกอบให้คณะกรรมการไปหารือกันต่อไป

ที่มา : สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การ์ดตก พบโรคใบด่างระบาดกว่าแสนไร่ ชี้ต้นตอปลูกพันธุ์อ่อนแอ ใช้ท่อนพันธุ์ติดโรค

 


กรมวิชาการเกษตร เร่งกระชับพื้นที่ระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลัง หลังพบพื้นที่ระบาดเพิ่มกว่าแสนไร่ใน 22 จังหวัด ชี้เป้าปลูกพันธุ์อ่อนแอและใช้ท่อนพันธุ์ติดโรค วอนเกษตรกรใช้ท่อนพันธุ์มันสะอาดจาก 30 จังหวัดปลอดโรคใบด่าง พร้อมปลูกมันพันธุ์ทนทานโรค ระยอง 72 และ KU 50

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยสถานการณ์การระบาดโรค ใบด่างมันสำปะหลังล่าสุดพบโรคใบด่างระบาดในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังของประเทศไทย รวมจำนวน 22 จังหวัด คือ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยภูมิ นครราชสีมา นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี มหาสารคาม ระยอง ลพบุรี ศรีสะเกษ สระแก้ว สระบุรี สุพรรณบุรี สุรินทร์ อุทัยธานี อุบลราชธานี มุกดาหาร และลำปาง รวมพื้นที่การระบาดทั้งหมดจำนวน 111,549 ไร่ ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้โรคใบด่างมันสำปะหลังระบาดเพิ่มขึ้นเนื่องจากการมีการใช้ท่อนพันธุ์จากแหล่งที่มีการระบาดของโรค

นอกจากนี้ ยังพบเกษตรกรบางพื้นที่ยังคงปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรคซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้เคยแจ้งเตือนไปแล้วว่าแม้จะเป็นพันธุ์ที่โตได้ดีและให้น้ำหนักดี แต่เป็นพันธุ์ที่อ่อนแอต่อทุกโรคของมันสำปะหลัง เช่น โรคหัวเน่า พุ่มแจ้ และใบด่าง ดังนั้นจึงขอให้เกษตรกรปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 72 หรือ KU 50 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ค่อนข้างทนทานต่อโรคใบด่าง และต้องเป็นพันธุ์ที่มาจากแปลงที่ผลิตต้นพันธุ์สะอาดและปลอดโรค รวมทั้งไม่ใช้ท่อนพันธุ์ที่ลักลอบนำเข้ามาจากต่างประเทศ เนื่องจากอาจมีโรคใบด่างติดเข้ามากับท่อนพันธุ์ด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดการระบาดในฤดูปลูกต่อมาได้

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การใช้ท่อนพันธุ์ทีมีแหล่งที่มาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พื้นที่การระบาดเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงขอย้ำเตือนเกษตรกรให้เลือกใช้ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังจากแหล่งที่ยังไม่พบการระบาดของโรคใบด่างจำนวน 30 จังหวัด คือ กำแพงเพชร จันทบุรี ชัยนาท เชียงราย เชียงใหม่ ตาก นครนายก นครพนม นราธิวาส น่าน ประจวบคีรีขันธ์ พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ แพร่ ยโสธร ร้อยเอ็ด ราชบุรี ลำพูน เลย สกลนคร สิงห์บุรี สุโขทัย หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี และอุตรดิตถ์ รวมทั้งขอความร่วมมือให้เกษตรกรหยุดปลูกพันธุ์มันสำปะหลังพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรค จึงจะสามารถหยุดวงจรการแพร่ระบาดของโรคนี้ได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากโรคใบด่างจากเชื้อไวรัส Sri Lankan cassava mosaic virus (SLCMV) ทำให้ผลผลิตเสียหายเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เกษตรกรไม่สามารถเก็บผลผลิตได้ ที่สำคัญโรคนี้สามารถเข้าทำลายมันสำปะหลังได้ทุกระยะการเจริญเติบโต จึงขอความร่วมมือให้เกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมกันเฝ้าระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตรเพื่อป้องกันไม่ให้พื้นที่การระบาดขยายเป็นวงกว้างเพิ่มขึ้นอีกต่อไป

ที่มา : ThaiPR.net 30 มิถุนายน 2563

ไทยผู้นำส่งออกมันสำปะหลังโลก นิวซีแลนด์พุ่ง400% มั่นใจหลังโควิด-19ยังไปต่อ

 

 

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ไทยและประเทศต่างๆ กำลังเผชิญกับสถานการณ์วิกฤตทางเศรษฐกิจ จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 จึงได้สั่งการให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เร่งวิเคราะห์ข้อมูลโอกาสขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปยังประเทศที่มีความต้องการ ในฐานะที่ไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก และได้รับรายงานว่าไทยได้ใช้ประโยชน์จากเอฟทีเออาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ และไทย-นิวซีแลนด์ มากขึ้น

” ส่งผลให้ช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ มียอดส่งออกมันสำปะหลังไปนิวซีแลนด์เพิ่มขึ้นด้วย จึงอยากกระตุ้นให้เกษตรกรและผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอดังกล่าวมากขึ้น สร้างโอกาสขยายส่งออก เพื่อฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปให้ได้ ” นายวีรศักดิ์ กล่าว

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เสริมว่า กรมได้เร่งศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลโอกาสในการขยายการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในปี 2563 ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตของโควิด-19 โดยเบื้องต้นพบว่า ในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2563 ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไปนิวซีแลนด์ มีมูลค่า 4.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 392.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยส่วนใหญ่เป็นกากและมันสำปะหลังอื่นๆ สัดส่วนร้อยละ 80 รองลงมาเป็นเด๊กตริน/โมดิไฟด์สตาร์ชอื่นๆ สัดส่วนร้อยละ 13.2 สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง แป้งมันสำปะหลัง และสาคูทำจากแป้งมันสำปะหลัง ตามลำดับ

“สืบเนื่องจากนิวซีแลนด์มีความต้องการนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น โดยในปี 2562 อุตสาหกรรมโคนมนิวซีแลนด์เติบโตขึ้น มีมูลค่าสูงถึง 10,411.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 5.18” นางอรมน กล่าว

นางอรมน กล่าวว่า ปัจจุบันไทยและนิวซีแลนด์มีความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ลงนามร่วมกัน 2 ฉบับ คือ อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) และไทย-นิวซีแลนด์ (TNZCEP) ซึ่งภายใต้เอฟทีเอดังกล่าว นิวซีแลนด์ได้ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่ส่งออกจากไทยแล้ว ทำให้ไทยมีแต้มต่อทั้งในด้านราคาและคุณภาพที่จะแข่งขันกับประเทศอื่นได้

อย่างไรก็ดี ไทยยังมีคู่แข่งสำคัญจากประเทศในอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ที่มีเอฟทีเอกับนิวซีแลนด์เช่นกัน ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องเร่งปรับตัว เพิ่มศักยภาพและมาตรฐานสินค้าให้ตรงตามความต้องการตลาด ตลอดจนรักษาคุณภาพสินค้า ทั้งกระบวนการแปรรูป การเก็บรักษา ความสะอาดในการขนส่งให้ได้มาตรฐานสุขอนามัย เพื่อช่วยให้ไทยสามารถขยายตลาดผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังและเพิ่มยอดการส่งออกในช่วงวิกฤตนี้ได้

ทั้งนี้ ในปี 2562 ไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอันดับ 1 ของโลก มูลค่า 2,606.1 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีตลาดสำคัญ คือ จีน สัดส่วนร้อยละ 52.2 ญี่ปุ่น สัดส่วนร้อยละ 10.9 อินโดนีเซีย สัดส่วนร้อยละ 7.6 ไต้หวัน สัดส่วนร้อยละ 5.2 และสหรัฐฯ สัดส่วนร้อยละ 3.6 ขณะที่นิวซีแลนด์เป็นตลาดสำคัญอันดับที่ 16 ของไทย ถือเป็นตลาดใหม่ที่ไทยมีแนวโน้มส่งออกได้เพิ่มขึ้น โดยในเดือนมกราคม 2563 นิวซีแลนด์นำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจากไทย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 88.5 ของการนำเข้าจากโลก รองลงมานำเข้าจากออสเตรเลีย สหรัฐฯ และญี่ปุ่น

 

ที่มา : มติชนออนไลน์ วันที่ 2 เมษายน 2563 - 12:53 น.

 

เกษตรฯ เผย ตัดวงจรทำลายใบด่างมันสำปะหลัง แล้ว 6 จังหวัด คุมเข้มเกษตรกร ห้ามใช้ท่อนพันธุ์ไม่รู้แหล่งปลูก เด็ดขาด


กรมส่งเสริมการเกษตร เผยหยุดวงจรโรคใบด่างมันสำปะหลังได้แล้ว 6 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ มหาสารคาม ระยอง ศรีสะเกษ สำหรับสถานการณ์ของโรคใบด่างมันสำปะหลัง พบว่า ข้อมูล ณ 12 กุมภาพันธ์ 2563 ยังคงเหลือพื้นที่ระบาด จำนวน 55,560.94 ไร่ ใน 11 จังหวัด และส่วนใหญ่สามารถควบคุมพื้นที่การระบาดได้ สำหรับพื้นที่ระบาด คิดเป็นร้อยละ 0.66 ของพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทั้งประเทศ 8.43 ล้านไร่ และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการดำเนินงานโครงการป้องกันและกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง เพื่อตัดวงจรการระบาดของโรคฯ ที่จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและภาคอุตสาหกรรมมันสำปะหลังของประเทศไทยแล้ว




เกษตรฯ เผย ตัดวงจรทำลายใบด่างมันสำปะหลัง แล้ว 6 จังหวัด คุมเข้มเกษตรกร ห้ามใช้ท่อนพันธุ์ไม่รู้แหล่งปลูก เด็ดขาด


กรมส่งเสริมการเกษตร เผยหยุดวงจรโรคใบด่างมันสำปะหลังได้แล้ว 6 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ มหาสารคาม ระยอง ศรีสะเกษ สำหรับสถานการณ์ของโรคใบด่างมันสำปะหลัง พบว่า ข้อมูล ณ 12 กุมภาพันธ์ 2563 ยังคงเหลือพื้นที่ระบาด จำนวน 55,560.94 ไร่ ใน 11 จังหวัด และส่วนใหญ่สามารถควบคุมพื้นที่การระบาดได้ สำหรับพื้นที่ระบาด คิดเป็นร้อยละ 0.66 ของพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทั้งประเทศ 8.43 ล้านไร่ และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการดำเนินงานโครงการป้องกันและกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง เพื่อตัดวงจรการระบาดของโรคฯ ที่จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและภาคอุตสาหกรรมมันสำปะหลังของประเทศไทยแล้ว
นายทวี มาสขาว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยภายหลังการเปิดงานรณรงค์ (Kick Off) เพื่อป้องกันและกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง ณ ตำบลกุดโบสถ์ อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 ว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ได้มีมาตรการควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลัง อย่างต่อเนื่อง ทั้งเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ พร้อมช่วยเหลือเกษตรกรมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับแผนการขับเคลื่อนการปราบใบด่างมันสำปะหลัง ได้ วางไว้ 4 แนวทาง สำรวจ ชี้เป้า ทำลาย และชดเชย ซึ่งจะต้องทำ โดยรัดกุม พร้อมทั้งปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการอย่างเคร่งครัด และการทำลาย จะต้องถูกต้อง ตามหลักวิชาการ ได้แก่ 1. วิธีฝังกลบ โดยฝังกลบต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรค และต้นข้างเคียงโดยรอบ ในหลุมที่ลึกไม่น้อยกว่า 50 ซม. ราดด้วยสารกำจัดวัชพืช อะมีทรีน 80% WG ซัลเฟนทราโซน 48% SC ไดยูรอน 80% WP อย่างใดอย่างหนึ่งก่อน 2. วิธีใส่ถุง/กระสอบ โดยนำต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคตัดเป็นท่อนใส่ถุง / กระสอบมัดปากให้แน่นแล้วนำไปตากแดดไม่น้อยกว่า 7 วัน หรือจนกว่าต้นมันสำปะหลังจะตาย 3.ง วิธีบดสับ โดยนำต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคเข้าเครื่องบดป่นหรือเครื่องสับย่อย โดยปูพลาสติกรองพื้นให้เศษต้นที่ถูกทำลายอยู่บนพลาสติก แล้วคลุมกองด้วยพลาสติกตากแดดให้ต้นมันสำปะหลังแห้งตาย

ทั้งนี้ ขอย้ำให้เกษตรกร และสั่งการเจ้าหน้าที่ให้ทุกพื้นที่ ที่พบการระบาด รวมถึงพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง ไม่ใช้ท่อนพันธุ์ ที่เป็นโรคซ้ำ เด็ดขาด และขอความร่วมมือ เจ้าหน้าที่เกษตรกร สร้างการรับรู้ให้เกษตรกร เฝ้าระวัง และ หมั่นสำรวจแปลงอยู่เสมอ
สำหรับโรคใบด่างมันสำปะหลัง สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส Cassava mosaic virus ซึ่งเป็นโรคที่มีความสำคัญ หากระบาดรุนแรงอาจทำให้ผลผลิตเสียหายได้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์

ที่มา : สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมการเกษตร 

 

 






Powered by Allweb Technology.