Company Logo
ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ www.nettathai.org สนใจสมัครสมาชิก ติดต่อ โทรศัพท์ 0 4421 2370 - 1 โทรสาร 0 4421 2372 E-mail : nettathai@hotmail.com





อัตราแลกเปลี่ยน



พยากรณ์อากาศ

คต. เผย 7 มาตรการช่วงโควิด เดินหน้าอำนวยความสะดวก มั่นใจการค้าไทยไม่สะดุด

 

 

 

กรมการค้าต่างประเทศดัน 7 มาตรการเพื่อให้บริการในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้สามารถนำเข้า-ส่งออกสินค้าได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และไร้อุปสรรค

 

          นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งการให้กรมฯ เร่งเดินหน้าอำนวยความสะดวกทางการค้าและขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยนำรายได้เข้าประเทศในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กรมฯ จึงได้เดินหน้า 7 มาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบให้แก่ผู้ประกอบการและปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลในการลดการเดินทางที่ไม่จำเป็นและการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ดังนี้

          1. ขยายเวลาวันหมดอายุสำหรับบัตรประจำตัวผู้ส่งออก-นำเข้าสินค้า และบัตรประจำตัวผู้รับมอบอำนาจที่จะหมดอายุในช่วงระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม - 31 ธันวาคม 2564 ออกไปอีก 5 เดือนโดยอัตโนมัติ ในส่วนของกรณีจำเป็นต้องจัดทำบัตรประจำตัวผู้ส่งออก-นำเข้าสินค้า และบัตรประจำตัวผู้รับมอบอำนาจใหม่ ผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอพร้อมส่งเอกสารทางไปรษณีย์ และกรมฯ จะจัดส่งบัตรให้ผู้ประกอบการทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS) โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมายังกรมฯ

          2. อนุญาตให้ผู้ประกอบการส่งคำขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออก-นำเข้าสินค้าที่มีมาตรการควบคุมการส่งออก-นำเข้าผ่านทางไปรษณีย์ พร้อมสามารถตรวจสอบผลการพิจารณาและเลขทะเบียนผ่านระบบลงทะเบียนผู้ประกอบการออนไลน์ของกรมฯ (Registration Database) ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

          3. เชิญชวนให้ผู้ประกอบการเลือกใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (e-Form D) หรือการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง (ASEAN Wide Self Certification: AWSC) สำหรับการส่งออกไปยังประเทศสมาชิกอาเซียน แทนการใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบกระดาษ

          4. ผลักดันการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยระบบการลงลายมือชื่อและตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ (ESS) ซึ่งสะดวกและรวดเร็ว เนื่องจากเป็นการลดขั้นตอน ลดระยเวลา และลดการสัมผัสกระดาษ

          5. เพิ่มการให้บริการออกหนังสือสำคัญการส่งออก-นำเข้าสินค้าแบบไร้เอกสาร (Paperless) โดยการเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมศุลกากรผ่านระบบ National Single Window (NSW) ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่ต้องนำเอกสารแบบกระดาษไปประกอบพิธีการทางศุลกากร

          6. อนุญาตให้ผู้ประกอบการใช้แบบฟอร์มรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองตามที่กรมฯ กำหนดมายื่นประกอบการขอรับหนังสือรับรองแสดงการได้สิทธิชำระภาษีตามพันธกรณีตามความตกลงการเกษตรภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ในช่วงระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม - 31 ธันวาคม 2564 กรณีที่ผู้ประกอบการไม่สามารถนำ C/O จากประเทศต้นทางมาแสดงได้เนื่องจากประเทศต้นทาง Lockdown

          7. รับชำระเงินผ่านการสแกน QR Code หรือ การโอนเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (e – Payment)

          นายกีรติฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการทั้งหมดจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยยังคงสามารถส่งออก-นำเข้าสินค้าได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และไร้อุปสรรค นอกจากนี้ กรมฯ ยังมีมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของ โรคโควิด-19 โดยได้สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ของกรมการค้าต่างประเทศได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อและการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งจัดทำระบบ Timeline a Day Report เพื่อให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของกรมฯ เข้าไปกรอกข้อมูลการเดินทางและกิจกรรมที่ได้ดำเนินการในแต่ละวัน เช่น สถานที่ที่ไปทำกิจกรรม ช่วงเวลา และรูปแบบการเดินทาง เป็นต้น เพื่อให้กรมฯ สามารถเฝ้าติดตามได้กรณีหากผู้บริหารหรือเจ้าหน้าที่ของกรมฯ ได้ไป สัมผัสผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือสนับสนุนที่ดีอย่างยิ่งในการช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการว่า กรมฯ ได้เฝ้าระวังและห่วงใย รวมถึงคำนึงความปลอดภัยอย่างเต็มที่ต่อการให้บริการที่เป็นเลิศแก่ผู้ประกอบการ

          ผู้ประกอบการสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักบริการ การค้าต่างประเทศ โทร 0 2547 4830 และ 0 2547 4838 (ประเด็นหนังสือสำคัญการส่งออก-นำเข้าสินค้า การใช้ e-Form D และระบบ ESS) และโทร 0 2547 4829 และ 0 2547 4837 (การทำบัตรประจำตัวผู้ส่งออก-นำเข้าสินค้า และขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออก-นำเข้าสินค้า) หรือ เว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ www.dft.go.th และสายด่วนกรมการค้าต่างประเทศ 1385

ที่มา : กรมการค้าต่างประเทศ

“จุรินทร์”คิกออฟ “จับคู่กู้เงิน” ช่วย SMEs ส่งออก วงเงิน 2,500 ล้าน จัดดอกถูก รู้ผลใน 7 วัน

“จุรินทร์”เปิดตัวโครงการ “จับคู่กู้เงิน” สถาบันการเงินกับ SMEs ส่งออก จับมือ EXIM Bank ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ส่งออกตัวเล็ก จัดวงเงิน 2,500 ล้านบาท ปล่อยสินเชื่อดอกถูกกว่าปกติ 3.99% ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ รู้ผลใน 7 วัน แถมกรมธรรม์ประกันได้เงินส่งออกแน่ ฟรี 1 Shipment

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการเป็นประธานเปิดโครงการ“จับคู่กู้เงิน” สถาบันการเงินกับ SMEs ส่งออกและเป็นสักขีพยานในการอนุมัติสินเชื่อระหว่าง Exim Bank กับผู้ประกอบการการส่งออก ที่กระทรวงพาณิชย์ ว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมมือกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จัดทำโครงการนี้ขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออกที่เป็นคนตัวเล็ก ซึ่งมีเป็นจำนวนมากที่เราเรียกว่า SMEs หรือ Micro SMEs มีประมาณ 30,000 ราย จาก SMEs ทั้งระบบ 3,000,000 ราย จึงต้องเข้ามาช่วยเพิ่มสภาพคล่อง ให้เข้าถึงแหล่งทุนนำไปหมุนเวียนประกอบกิจการและทำรายได้จากการส่งออกเข้าประเทศได้เพิ่มขึ้น

“ผู้ส่งออกที่มีส่วนในการทำรายได้เข้าประเทศ ไม่ได้มีแต่คนตัวใหญ่ แต่มีคนตัวเล็กอีกเป็นจำนวนมาก แล้วผู้ส่งออกเหล่านี้ นอกจากมีปัญหา.ด้านการผลิต การแปรรูป นวัตกรรม และการตลาด ยังมีอีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งและทำให้ SMEs ที่ทำธุรกิจส่งออกไม่สามารถทำตัวเลขทำรายได้ให้ประเทศตามความตั้งใจ คือ การเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อหมุนเวียนในการประกอบกิจการและเสริมสภาพคล่อง แต่โครงการนี้ จะช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ลงได้”

นายจุรินทร์กล่าวว่า โครงการ จับคู่กู้เงิน สถาบันการเงินกับ SMEs ส่งออก ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจาก EXIM Bank จัดวงเงินให้เป็นพิเศษ 2,500 ล้านบาท และเงื่อนไขพิเศษ ประกอบด้วย ดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี จากปกติ 6.5% ต่อปี ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ เพราะ บสย.จะช่วยค้ำประกันหลักทรัพย์ให้ ปลอดค่าธรรมเนียมในการค้ำประกันหลักทรัพย์ 2 ปี และการพิจารณายื่นคำขอกู้จากปกติประมาณ 30 วัน จะพิจารณาให้เสร็จใน 7 วันทำการ

นอกจากนี้ ทุกรายที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อ ธนาคาร EXIM Bank จะมอบกรมธรรม์ประกันการชำระเงินให้ฟรี 1 shipment คือถ้า SMEs มีออเดอร์นำเข้าจากต่างประเทศ จะมีหลักประกันว่าการส่งสินค้าออกต้องได้เงินแน่นอน ซึ่งปกติต้องจ่ายเบี้ยประกัน แต่จะให้ฟรีสำหรับการส่งออก Shipment แรกหลังได้เงินกู้แล้ว และจะได้รับการอบรมความรู้เรื่องการส่งออก

สำหรับวันนี้ ได้มีการเปิดรับสินเชื่อล่วงหน้าและอนุมัติมาเป็นตัวอย่างทั้งหมด 7 รายวงเงินสินเชื่อ 22.2 ล้านบาท และมีผู้ยื่นเข้ามาแล้ว 188 รายวงเงิน 1,021 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่า SMEs ประสงค์ขอสินเชื่อเยอะสำหรับการส่งออกเพื่อทำรายได้เข้าประเทศ ส่วนการยื่นขอกู้เงินนั้นสามารถยื่นได้ทาง LINE@ ของ EXIM Bank หรือ LINE@ ของ บสย. หรือเว็บไซต์และFacebook หรือจะไปที่สำนักงานก็ได้

โครงการ “จับคู่กู้เงิน” เป็นโครงการภาค 2 ต่อจากโครงการ จับคู่กู้เงินสถาบันการเงินกับร้านอาหาร ซึ่งดำเนินการประสบผลสำเร็จอย่างดี มีร้านอาหารยื่นขอกู้ไม่ต่ำกว่า 15,000 ราย และอยู่ในขั้นตอนพิจารณา คาดว่าจะสามารถอนุมัติวงเงินกู้ได้ไม่ต่ำกว่า 1,500-2,000 ล้านบาท และจะมีส่วนช่วยอย่างยิ่งในการต่อลมหายใจให้กับร้านอาหาร
ที่มา : CNA Online กระทรวงพาณิชย์

เกษตรพัฒนาแอพพลิเคชั่นพยากรณ์ศัตรูพืช และโรคพืช ร่วมกับ ม.ลาดกระบัง หวังช่วยเกษตรกรป้องกันผลผลิตได้ทันท่วงที

 

นายขจร เราประเสริฐ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาด้านการเกษตรทวีความรุนแรงและมีความซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการปลูกพืช ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ทำให้สภาพอากาศแปรปรวน กระทบกับวงจรการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช ซึ่งส่งผลต่อการเพาะปลูกของเกษตรกรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในฐานะที่กรมส่งเสริมการเกษตรมีภารกิจหลักในการส่งเสริมและพัฒนาเพิ่มศักยภาพการผลิตด้านพืชของเกษตรกร และการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกษตรกรมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน จึงหาแนวทางที่จะทำให้ทราบสถานการณ์การระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืชได้ล่วงหน้า และแจ้งเตือนให้เกษตรกรผู้ปลูกพืชรับทราบและสามารถดำเนินการป้องกันหรือหาวิธีการบรรเทาผลกระทบจากการระบาดได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจะเป็นการช่วยลดอัตราการสูญเสียของผลผลิตได้ โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม AI และ IoT มาใช้เพื่อพัฒนางานด้านการเกษตร เพื่อตอบสนองนโยบายเกษตรแม่นยำสูง (Precision Farming) หรือเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

กรมส่งเสริมการเกษตร โดยกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย จึงได้จัดการประชุมทางไกล ผ่านระบบ Zoom เพื่อหารือแนวทางการพัฒนาการติดตามการระบาดศัตรูพืชเพื่อการพยากรณ์และเตือนการระบาด โดยใช้เทคโนโลยีเพื่อเกษตรอัจฉริยะด้านอารักขาพืช ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังขึ้น เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 โดยมีเป้าหมายในการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการพัฒนาระบบรายงานการระบาดศัตรูพืชผ่านแอพพลิเคชั่น “DOAE Pest Forecast” ซึ่งจะเป็นระบบที่ช่วยในการสำรวจข้อมูลการระบาดศัตรูพืชให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและรวดเร็ว สามารถประมวลผลและพยากรณ์การระบาดของศัตรูพืชล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ รวมทั้งสามารถวางแผนควบคุมการระบาดได้รวดเร็วและติดตามผลการดำเนินการได้อย่างใกล้ชิด

ด้านนายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักพืชและจัดการดินปุ๋ย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2563 กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ยได้รับความอนุเคราะห์จาก ผศ.ดร.อนรรฆพล แสนทน คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ดำเนินการพัฒนาแอพพลิเคชั่น DOAE Pest Forecast เพื่อติดตามการระบาดของศัตรูพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อย มะพร้าว และทุเรียน โดยกรมฯ เก็บข้อมูลการระบาดศัตรูพืชประจำสัปดาห์ ผ่านเทคโนโลยีการถ่ายภาพและรายงานแบบ real – time ภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะมีการตรวจสอบแก้ไขผลการวินิจฉัยจากผู้เชี่ยวชาญ ร่วมกับข้อมูลสภาพแวดล้อมที่วัดได้ในแปลง ซึ่งในปีนี้ได้ต่อยอด DOAE Pest Forecast ไปทดสอบในศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช (ศทอ.) จำนวน 9 แห่ง พร้อมติดตั้งอุปกรณ์วัดสภาพอากาศรายแปลง สามารถวัดค่าอัตโนมัติได้ทุก ๆ 30 นาที ในแปลงต้นแบบการพยากรณ์ศัตรูพืช จำนวน 30 แปลง พื้นที่ 28 จังหวัด โดยมีแผนจะนำไปขยายผลใช้กับแปลงติดตามสถานการณ์การระบาดศัตรูพืชในพื้นที่เสี่ยงในทุกจังหวัดต่อไป

ทั้งนี้ ระบบการพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืชดังกล่าว เมื่อดำเนินการเสร็จสมบูรณ์จะมีความแม่นยำ สามารถเตรียมการป้องกันก่อนเกิดความเสียหายต่อผลผลิตพืชที่สำคัญได้ และเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรด้านอารักขาพืชที่ช่วยในการลดภาระงานให้กับเจ้าหน้าที่ในการลงสำรวจตรวจนับการระบาดศัตรูพืชประจำทุกสัปดาห์ โดยให้เกษตรกรเจ้าของแปลงดำเนินการได้เอง และแสดงผลให้กับเจ้าหน้าที่และเกษตรกรทราบเพื่อเตรียมการป้องกันได้อย่างแม่นยำ

ที่มา : กรมส่งเสริมการเกษตร

 

   

 

  

พาณิชย์เดินหน้าประกันรายได้มันสำปะหลัง ปี 3

นครราชสีมา 19 มิ.ย. – พาณิชย์เดินหน้าประกันรายได้มันสำปะหลัง ปี 3 ตั้งเป้าคลอดยุทธศาสตร์มันสำปะหลังไทย พร้อมบุกตลาดจีนเพิ่ม

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พบปะเกษตรกรผู้ปลูกมันสําปะหลัง และตรวจเยี่ยมโรงแป้งมันสําปะหลัง บริษัท สงวนวงษ์อุตสาหกรรม จํากัด อําเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา พบปะชาวไร่มันสำปะหลัง ยอมรับราคาดี 2.30-2.50 บาท เชื้อแป้ง 25% หากราคาตกต่ำกว่า 2.50 บาท จะใช้นโยบายประกันรายได้ชาวไร่มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นนโยบายของตน เพราะตนเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนโยบายนี้เป็นนโยบายที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอก่อนเข้าร่วมรัฐบาล เหมือนกับประกันรายได้พืช 5 ชนิด มีข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด และมันสำปะหลัง เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ยังเป็นพรรคร่วมรัฐบาล จะผลักดันนโยบายประกันรายได้เกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลังต่อไปเป็นปีที่ 3 เสนอต่อคณะรัฐมนตรี

นายจุรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำยุทธศาสตร์มันสำปะหลังไทย ไม่เน้นเฉพาะนวัตกรรม แต่รวมถึงกระบวนการผลิตต้นน้ำ จนถึงการตลาดปลายน้ำ ครบวงจร คาดว่าไม่เกิน 6 เดือน – 1 ปี จะประกาศยุทธศาสตร์มันสำปะหลังไทยได้ เพื่อใช้เป็นยุทธศาสตร์แม่บทในการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนในการวิจัยและพัฒนาต่อยอดเป็นสินค้ามูลค่าสูงขึ้น รวมทั้งการส่งสินค้ามูลค่าสูงออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ นำรายได้เข้าประเทศ โดยตลาดใหญ่ของมันสำปะหลังอยู่ที่ประเทศจีน โดยหลักตลาดจีนมี 2 ส่วน คือ ประเทศไทยเข้าเฉพาะตลาดเอทานอลเป็นหลัก แต่ยังมีตลาดอาหารสัตว์ที่เรายังไม่ได้เข้าไปเชิงลึก ยังสามารถเข้าไปได้อีก และมีอีกหลายมณฑลที่มีความต้องการ ตลาดจีนยังเป็นตลาดใหญ่ที่มีอนาคตสำหรับมันสำปะหลังไทย

 

นอกจากนี้ ยังมีตลาดยุโรป นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ที่สามารถนำมันสำปะหลังไปทำเป็นอาหารสัตว์ได้ เราต้องขยายองค์ความรู้ในการนำมันสำปะหลังไปผสมเป็นอาหารสัตว์ ซึ่งบางประเทศไม่ใช้มันสำปะหลัง ต้องไปประชาสัมพันธ์และเจาะตลาดต่อไปในอนาคต

ที่มา : สำนักข่าวไทย tna.mcot.net/business

"จุรินทร์"เดินหน้าประกันรายได้มันสำปะหลังปี 3

 "จุรินทร์"เดินหน้าประกันรายได้มันสำปะหลังปี 3 ตั้งเป้าคลอดยุทธศาสตร์มันสำปะหลังไทยชูตลาดจีนมีอนาคต

เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)  รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ คุณหญิงกัลยา โสภณพานิช  รมช.ศึกษาธิการ พบปะเกษตรกรผู้ปลูกมันสําปะหลังและตรวจเยี่ยมโรงแป้งมันสําปะหลังบริษัทสงวนวงษ์อุตสาหกรรม จํากัด อ.เมือง จ.นครราชสีมา

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ดีใจกับพี่น้องชาวไร่มันสำปะหลังที่นี่ ได้ราคามาตรฐาน 2.30-2.50 ที่เชื้อแป้ง 25% ถือว่าราคาพอไปได้และถ้าเมื่อไหร่ราคาตกต่ำกว่า 2.50 บาทจะมีตัวช่วยคือนโยบายประกันรายได้ชาวไร่มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นนโยบายของตนเพราะตนเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนโยบายนี้เป็นนโยบายที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอก่อนเข้าร่วมรัฐบาล โดยนโยบายประกันรายได้เกษตรกร ประกอบด้วยพืช 5 ชนิด มีข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดและมันสำปะหลัง ทำให้พี่น้องมีหลักประกัน ถ้าราคาตกต่ำกว่า 2.50 บาทจะมีส่วนต่างทำให้มีรายได้ 2 ทาง ตราบเท่าที่พรรคประชาธิปัตย์ยังเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเราจะผลักดันนโยบายประกันรายได้เกษตรกรชาวไร่มันต่อไป โดยทำมา 2 ปีแล้วปีนี้จะเป็นปีที่ 3 และจะเดินหน้าต่อไปโดยตนจะนำเรื่องเข้าเสนอต่อคณะรัฐมนตรีสำหรับปีที่ 3 นี้

นายบุญมา พลภักดี ตัวแทนเกษตรกร กล่าวว่า ขอขอบคุณท่านรองนายกฯที่ช่วยให้เกษตรมีรายได้ 3 ทาง จากการแปรรูปมันสำปะหลัง โครงการประกันรายได้มันสำปะหลังและจำหน่ายสินค้าจากมันสำปะหลัง จากนั้นได้สาธิตการใช้เครื่องสับมันขนาดย่อมที่นายจุรินทร์ได้อนุมัติโครงการมอบเครื่องสับมันขนาดย่อมให้แก่เกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลังไปก่อนหน้านี้

หลังจากนั้น นายจุรินทร์ ให้สัมภาษณ์ว่า การทำยุทธศาสตร์มันสำปะหลังไทย จะรวมทุกเรื่องไม่เฉพาะนวัตกรรม แต่รวมถึงกระบวนการผลิตต้นน้ำจนถึงการตลาดปลายน้ำ ครบวงจรคาดว่าไม่เกิน 6 เดือนถึง 1 ปี จะประกาศยุทธศาสตร์มันสำปะหลังไทยได้ เพื่อใช้เป็นยุทธศาสตร์แม่บทในการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนในการวิจัยและพัฒนาต่อยอดเป็นสินค้ามูลค่าสูง เกษตรมูลค่าสูงได้ พรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนแนวทางนี้ ซึ่งผลได้จะตกกับเกษตรกรและประเทศโดยรวมในการส่งสินค้ามูลค่าสูงออกไปจำหน่ายในต่างประเทศนำรายได้เข้าประเทศ โดยตลาดใหญ่ของมันสำปะหลังอยู่ที่ประเทศจีน โดยหลักตลาดจีนมี 2 ส่วน คือประเทศไทยเข้าเฉพาะตลาดเอทานอลเป็นหลักแต่ยังมีตลาดอาหารสัตว์ที่เรายังไม่ได้เข้าไปเชิงลึกยังสามารถเข้าไปได้อีก และมีอีกหลายมณฑลที่มีความต้องการ ตลาดจีนยังเป็นตลาดใหญ่ที่มีอนาคตสำหรับมันสำปะหลังไทย นอกจากนี้ยังมีตลาดยุโรป นิวซีแลนด์ออสเตรเลีย ที่สามารถนำมันสำปะหลังไปทำเป็นอาหารสัตว์ได้ เราต้องขยายองค์ความรู้ในการนำมันสำปะหลังไปผสมเป็นอาหารสัตว์ซึ่งบางประเทศไม่ใช้มันสำปะหลัง ต้องไปประชาสัมพันธ์และเจาะตลาดต่อไปในอนาคต

สำหรับการตรวจเยี่ยมลงพื้นที่ครั้งนี้ โดยมี นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายกอบชัย บุญอรณะ  ผวจ.นครราชสีมา เข้าร่วมด้วย พร้อมทั้งนายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการ รมว.พาณิชย์ นางวรรณภรณ์ เกตุทัต ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ นายวัฒนศักดิ์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ร่วมด้วย

 

ที่มา : www.newtv.co.th/news






Powered by Allweb Technology.