Company Logo
ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ www.nettathai.org สนใจสมัครสมาชิก ติดต่อ โทรศัพท์ 0 4421 2370 - 1 โทรสาร 0 4421 2372 E-mail : nettathai@hotmail.com





อัตราแลกเปลี่ยน



พยากรณ์อากาศ

อุบลฯ ผนึกกำลัง ต้านโรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง

วันที่ 22 กรกฎาคม 2562 กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล (โรงงานผลิตเอทานอล และแป้งมันสำปะหลัง ต.นาดี อ.นาเยีย) ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี / สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 และเกษตรกรชาวไร่มันปะหลังในพื้นที่ตำบลหนองกินเพล อ.วารินชำราบ จำนวน 100 ราย เปิดเวทีสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลังให้ความรู้ และระดมมาตรการป้องกัน นำร่องโครงการตำบลต้านโรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง ณ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองกินเพล ต.หนองกินเพล อ.วารินชำราบ

การอบรมในวันนี้ มุ่งเน้นสร้างความตระหนักให้เกษตรกรเข้าใจ วิธีการจัดการกรณีพบเจอโรคฯ โดยนำร่องอบรมพื้นที่ ต.หนองกินเพล อ.วารินชำราบ เนื่องจากเป็นตำบลที่มีการปลูกมันสำปะหลัง และเป็นแหล่งที่มีผู้นำท่อนพันธุ์มาจำหน่ายแหล่งใหญ่แหล่งหนึ่งในจังหวัด พร้อมจะขยายการสร้างความรู้ไปยังพื้นที่ตำบลอื่นๆ ในจังหวัดที่มีการเพาะปลูกมันสำปะหลังในเดือนต่อไป

 

ปัจจุบันสถานการณ์โรคฯ ในจังหวัดอุบลราชธานี ยังไม่เป็นที่น่าวิตก จากการสำรวจของส่วนราชการพบเจอแปลงที่เป็นโรคฯ ที่ต.โซง อำเภอน้ำยืน และต.โคกสะอาด อำเภอน้ำขุ่น จำนวน 2 ราย 20 ไร่ พร้อมมีมาตการจัดการเรียบร้อยแล้ว (ข้อมูลจาก สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 กรมวิชาการเกษตร) ซึ่งนับเป็นความโชคดีที่อำเภอพื้นที่ภายในจ.อุบลราชธานี ยังไม่พบเจอโรคฯ แต่เพื่อความไม่ประมาท และความยั่งยืนที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อพืชเศรษฐกิจของประเทศ จึงต้องเร่งสร้างการมีส่วนร่วมในการหามาตราการป้องกันไม่โรคเข้ามาในพื้นที่ ด้วยการที่เกษตรกรจะต้องช่วยกัน ร่วมกับมาตราการภาครัฐ ที่ออกมาป้องกันอย่างจริงจัง

โรคใบด่างมันสำปะหลังมีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส Sri Lankan cassava mosaic virus (SLCMV) สามารถเข้าทำลายมันสำปะหลังได้ทุกระยะการเจริญเติบโต มีแมลงหวี่ขาวเป็นพาหะ หากพบต้นมันที่เป็นโรคต้องทำลายทิ้งทันที เกษตรกรชาวไร่มันฯ พบอาการของโรคฯ สามารถติดต่อแจ้งได้ที่ เกษตรอำเภอ หรือเกษตรตำบลประจำอำเภอ / เจ้าหน้าที่ของกลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร 081 967 2288

 

ที่มา : สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม

เฝ้าระวังโรคใบด่างมันสำปะหลัง

 

จับตา... ภัยเกษตร เฝ้าระวังโรคใบด่างมันสำปะหลัง 

สถานการณ์และแนวทางการบริหารจัดการมันสำปะหลัง ปีการผลิต 2561/62

เรื่อง  สถานการณ์และแนวทางการบริหารจัดการมันสำปะหลัง ปีการผลิต 2561/62

                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้

                    1. รับทราบสถานการณ์การผลิตและการตลาดสินค้ามันสำปะหลัง ปี 2561/62 มาตรการและแนวทางป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง  และแผนการดำเนินงานตามแนวทางการบริหารจัดการมันสำปะหลัง ปีการผลิต 2561/62 จำนวน 5 โครงการ วงเงินรวม 183.324 ล้านบาท ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ 

                    2. อนุมัติการดำเนินโครงการของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)จำนวน  2 โครงการ (โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลังในระบบน้ำหยด  และโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร) โดยชดเชยดอกเบี้ยในกรอบวงเงินงบประมาณ 82.65 ล้านบาท ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ  สำหรับภาระงบประมาณที่จะเกิดขึ้นให้ ธ.ก.ส. จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณตามผลการดำเนินการจริง เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป 

                    3. ให้กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงการคลังและ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

                    สาระสำคัญของเรื่อง

                    1. กระทรวงพาณิชย์เสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบสถานการณ์การผลิตและการตลาดสินค้า

มันสำปะหลัง ปี 2561/62 รวมทั้งมาตรการและแนวทางป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการจัดทำโครงการเสนอสำนักงบประมาณเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และรับทราบแผนการดำเนินงานตามแนวทางการบริหารจัดการมันสำปะหลัง ปีการผลิต 2561/62 จำนวน 5 โครงการ วงเงินรวม  18.324 ล้านบาท และอนุมัติการดำเนินโครงการของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรและวงเงินงบประมาณที่ใช้ดำเนินโครงการปี 2561/62 จำนวน 2 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 114 ล้านบาท ดังนี้  (1) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลังในระบบน้ำหยด วงเงินสินเชื่อ 1,150 ล้านบาท วงเงินที่ขอรับจัดสรร 69 ล้านบาท  และ (2)  โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร วงเงินสินเชื่อ 1,500 ล้านบาท วงเงินที่ขอรับจัดสรร 45 ล้านบาท โดยภาระงบประมาณที่เกิดขึ้น  ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ มาตรการและแนวทางป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลังและแนวทางการบริหารจัดการสินค้ามันสำปะหลัง ปีการผลิต 2561/62 รวม 8 โครงการ ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลังใน              การประชุมครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2561 ด้วยแล้ว 

                    2. แนวทางการบริหารจัดการมันสำปะหลัง ปี 2561/62 ประกอบด้วย โครงการรวม 7 โครงการ   

  1) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลังในระบบน้ำหยด ปี 2561/62 (ธ.ก.ส.) 

  2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2561/62 (ธ.ก.ส.) 

  3) โครงการสนับสนุนเครื่องสับมันสำปะหลังขนาดเล็กเพื่อเพิ่มศักยภาพการแปรรูปมันสำปะหลัง  เงินจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร10 ล้านบาท

  4) โครงการขยายโอกาสทางการค้าและพัฒนาศักยภาพผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เงินจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร 2 ล้านบาท 

   5) โครงการกำกับดูแลการนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้าน เงินจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร 6.324 ล้านบาท

   6) โครงการยกระดับคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด (มันเส้นสะอาด)  โครงการของกระทรวงพาณิชย์ที่ไม่ขอรับจัดสรรงบประมาณ

    7) โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง โครงการของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรที่ไม่ขอรับจัดสรรงบประมาณ

 

 

 

 

 

 

 

“เกษตรแปลงใหญ่ มันสำปะหลังอัจฉริยะ : SWI Model”

           เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2562 เวลา 09.30 น.-12.00 น. ณ แปลงเรียนรู้ NIA บ้านหนองแหน หมู่ที่ 5 ตำบลหนองบัวศาลา อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา นายธีระ เอื้ออภิธร อุปนายกสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้รับมอบหมายจาก นายสมบูรณ์ วัฒนวานิชย์กุล นายกสมาคมฯ เป็นผู้แทนเข้าร่วมพิธีเปิดงาน “เกษตรแปลงใหญ่ มันสำปะหลังอัจฉริยะ : SWI Model” จัดโดย บริษัท สงวนวงษ์อุตสาหกรรม จำกัด ผู้เข้าร่วมงานประมาณ 300 คน ประกอบด้วย หัวหน้าเจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการ กรมส่งเสริมการเกษตร ผู้เชี่ยวชาญนักวิชาการ จากกรมวิชาการเกษตร ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตร ผู้บริหารโรงแป้งสมาชิกสมาคมฯ ในจังหวัดนครราชสีมา ผู้ประกอบการภาคเอกชน ผู้แทนหอการค้าจังหวัด ผู้ประกอบการโรงแป้งในพื้นที่จังหวัดต่างๆ กลุ่มคลัสเตอร์มันโคราช เครือข่ายเกษตรกรแปลงใหญ่จังหวัดนครราชสีมา โดย นายศักดิ์ฤทธิ์ สลักคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดงาน พบปะเกษตรกร และเยี่ยมชมฐานการเรียนรู้ บูทแสดงนิทรรศการนวตกรรมเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตภายในงาน
นางธิดารัตน์ รอดอนันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สงวนวงษ์อุตสาหกรรม จำกัด กล่าวรายงานว่าสืบเนื่องจากทางบริษัทฯ ได้รับงบสนับสนุนจาก สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) เพื่อจัดทำโครงการ “SWI Model รูปแบบการบริหารจัดการเกษตรแปลงใหญ่แบบแม่นยำสูงและยั่งยืน สำหรับมันสำปะหลัง” โดยได้บูรณาการกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กรมวิชาการเกษตร และผู้ประกอบการภาคเอกชน ในการนำผลงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังมาจัดทำแปลงเรียนรู้ ให้เป็นต้นแบบการบริหารจัดการเกษตรแปลงใหญ่แบบอัจฉริยะ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลัง บนพื้นที่รวม 150 ไร่ ณ บ้านหนองแหน หมู่ 5 ตำบลหนองบัวศาลา อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา โดยได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 เป็นต้นมา บัดนี้ กิจกรรมต่างๆ ในโครงการได้สำเร็จเรียบร้อยตามแผนงาน เพื่อเป็นการขยายผลการนำนวัตกรรมต่างๆ ไปสู่เครือข่ายและผู้สนใจ จึงได้จัดงาน “เกษตรแปลงใหญ่ มันสำปะหลังอัจฉริยะ : SWI Model ” ขึ้นในวันนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ
       1. ถ่ายทอดองค์ความรู้ ในเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ได้แก่ การใช้อากาศยานไร้คนขับ การให้น้ำหยดแบบกึ่งอัตโนมัติ การใช้พลังงานทางเลือกโซล่าเซลล์ และการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร โดยยังคงยึดกรอบ 5 เทคโนโลยีพื้นฐานเดิมของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ การใช้พันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การจัดการดิน การให้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ การจัดน้ำ และการอารักขาพืช
       2. นำเสนอผลที่ได้รับจากโครงการ ข้อจำกัดการเลือกใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสม และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อให้ผู้สนใจ สามารถเลือกและปรับใช้ให้เหมาะสม
นายศักดิ์ฤทธิ์ สลักคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า จังหวัดนครราชสีมา เป็นจังหวัดที่ปลูกมันสำปะหลังมากที่สุดในประเทศไทย โดยมีเนื้อที่เพาะปลูกประมาณ 2 ล้านไร่ มีเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังกว่า 73,000 ราย ผลิตหัวมันสำปะหลังออกสู่ตลาดปีละประมาณ 8 ล้านตัน ประกอบกับมีโรงแป้ง 23 โรง ลานมันประมาณ 120 แห่ง ถือได้ว่าเป็นแหล่งอุตสาหกรรมมันสำปะหลังอันดับหนึ่งของประเทศ
ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา จากปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของตลาดต่างประเทศคู่ค้าของไทย และกลไกตลาดโลกที่กดดันให้ราคามันสำปะหลังตกต่ำ ทำให้พี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังต่างก็ได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย ซึ่งวิกฤตินี้ใช้เวลาปรับตัวของกลไกตลาดนานพอสมควร กว่าที่ราคาตลาดจะฟื้นกลับสู่ระดับปัจจุบัน จากวิกฤติดังกล่าว จะเห็นว่าการปรับแก้ปัจจัยภายนอก หรือกลไกตลาด เป็นเรื่องที่ยากมากและใช้ระยะเวลานาน ซึ่งเกษตรกรไม่ควรรอคอย หรือพึ่งพาปัจจัยภายนอกมากเกินไป ดังนั้น การให้ความสำคัญกับการผลิตให้มีต้นทุนต่อหน่วยต่ำที่สุด จึงจำเป็นอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในภาวะวิกฤติราคา และมีรายได้สูงเมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ
ภาครัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างก็ได้พยายามช่วยเหลือการปรับตัวของพี่น้องเกษตรกร ด้วยโครงการต่างๆ มากมาย ผ่านกิจกรรมของการรวมกันเป็นกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ การส่งเสริมการปรับใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมมุ่งสู่นโยบาย Thailand 4.0 การเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนด้วยเครื่องจักรกล ทดแทนแรงงาน และการบูรณาการกับเครือข่ายภาคเอกชน ผ่านนโยบายประชารัฐ เป็นต้น
โครงการ “เกษตรแปลงใหญ่ มันสำปะหลังอัจฉริยะ : SWI Model” ที่จัดขึ้นในวันนี้ ถือได้ว่าเป็นตัวอย่างต้นแบบที่ดีที่ภาคเอกชนและภาครัฐ ได้ร่วมมือกันบูรณาการเอาผลงานวิจัยต่าง ๆ ลงสู่แปลงเรียนรู้ในเชิงปฏิบัติจริง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ และตามยุทธศาสตร์มันสำปะหลังจังหวัดนครราชสีมา หรือ Korat Tapioca Model ซึ่งงานนี้ถือเป็นการสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จังหวัดได้เป็นอย่างดี ในการปรับใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และเผยแพร่องค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ สู่พี่น้องเกษตรกรเครือข่ายในวันนี้ และขอขอบคุณภาคีความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ที่ได้ร่วมกันจัดงานในครั้งนี้

    

    

    

    

    

  






Powered by Allweb Technology.